Overview
- Alprazolam คือ ยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป โรคแพนิค โรคกลัวการเข้าสังคม ภาวะเครียดจากสิ่งกดดันภายนอก ภาวะวิตกกังวลก่อนผ่าตัด ภาวะวิตกกังวลที่เกิดจากภาวะซึมเศร้า ฯลฯ
- Alprazolam จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 การใช้ยานี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เท่านั้น
- ผลข้างเคียงของ Alprazolam คือ ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ หรือการตัดสินใจ หลงลืม หรืออาจเกิดปฏิกิริยาในทางตรงกันข้ามกับฤทธิ์ของยา เช่น กังวล ใจสั่น ตื่นเต้น ฯ
ยา Alprazolam คืออะไร? | ข้อควรระวัง | วิธีใช้ยา | ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน | ผลข้างเคียง | ลืมรับประทาน | รับประทานยาเกินขนาด | การเก็บรักษา | การหยุดยา | คำถามพบบ่อย
ยา Alprazolam คืออะไร?
สรรพคุณและกลไกการออกฤทธิ์
ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) คือ ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ที่ใช้สำหรับคลายอาการวิตกกังวล เช่น โรควิตกกังวลทั่วไป โรคแพนิค โรคกลัวการเข้าสังคม ภาวะเครียดจากสิ่งกดดันภายนอก ภาวะวิตกกังวลก่อนผ่าตัด ภาวะวิตกกังวลที่เกิดจากภาวะซึมเศร้า ฯลฯ
นอกจากนี้ยา Alprazolam ยังใช้เป็นยาช่วยให้นอนหลับเพื่อแก้อาการนอนไม่หลับ และใช้เป็นยาร่วมในการรักษากลุ่มอาการขาดสุราและภาวะนั่งไม่ติดที่ ปัจจุบัน Alprazolam จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 การใช้ยานี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เท่านั้นเท่านั้น
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Alprazolam คือ การเปลี่ยนแปลงการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองและทำให้เกิดฤทธิ์ในการระงับอาการวิตกกังวล ช่วยให้สงบ และช่วยให้นอนหลับ โดยจะเริ่มออกฤทธิ์หลังการใช้ยาประมาณ 8-25 นาที แต่มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้นเพียงประมาณ 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น

ชื่อทางการค้าของยา Alprazolam ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
โซแลม (Zolam), ซาแน็กซ์ (Xanax), แอนเพรส (Anpress), อัลเซแลม (Alcelam), ไดโซแลม (Dizolam), สยามพราซอล (Siampraxol)
ประเภทของยา
Alprazolam เป็นยาในกลุ่ม Benzodiazepines ซึ่งเป็นกลุ่มยานอนหลับและยาคลายเครียดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ยา Alprazolam ยังจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 การใช้ยานี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์เท่านั้นเท่านั้น
รูปแบบของยา
สำหรับยาอัลปราโซแลมที่ในทางการแพทย์ในปัจจุบันจะเป็นยาในรูปแบบเม็ดรี มีอยู่ 3 ขนาด คือ 0.25 มิลลิกรัม 0.5 มิลิกรัม และขนาด 1 มิลลิกรัม มีสีตามขนาด คือ สีขาว สีชมพู และสีม่วงตามลำดับ
ยา Alprazolam ราคาเท่าไหร่?
ราคากลางของยา A
- Alprazolam 0.25 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 500 เม็ด/ขวด ราคา 300 บาท
- Alprazolam 0.5 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 1000 เม็ด/ขวด ราคา 650 บาท
- Alprazolam 1 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 500 เม็ด/ขวด ราคา 350 บาท
ข้อควรระวังก่อนใช้ยา
ผู้ที่สามารถใช้ยา Alprazolam ได้
- ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลและตื่นตระหนก
- ผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับ
- ผู้ป่วยที่มีอาการชัก
- ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า ติดสุราเรื้อรัง
ผู้ที่ไม่ควรใช้ยา Alprazolam
- ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาอัลปราโซแลม ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน ยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า ทุกชนิด
- ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 65 ปี
- สตรีตั้งครรภ์และสตรีให้นมบุตร
- ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของปอด ตับ หรือไต
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
- ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดเฉียบพลันหรือมุมตาแคบ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria)
- ระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักรกล หรือทำงานในที่สูง
วิธีใช้ยา
วิธีใช้ยา Alprazolam และปริมาณที่เหมาะสมจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยา Alprazolam ตามอาการ ชนิดของโรค อายุ และการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ดังนั้นปริมาณยาที่ใช้รักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความแตกต่างกัน และที่สำคัญคือต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน
- ยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับเชื้อราบางชนิด เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษร้ายแรง ง่วงนอนอย่างรุนแรง และหายใจช้าลงได้
- ยาเม็ดคุมกำเนิด ไซเมทิดีน (Cimetidine) โอเมพราโซล (Omeprazole) ไอเอ็นเอช/ไอโซไนอะซิด (INH/Isoniazid) โดยยากลุ่มนี้จะทำให้ยาอัลปราโซแลมออกฤทธิ์รุนแรงมากขึ้น
- ยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ทีโอฟิลลีน (Theophylline) โดยยากลุ่มนี้จะทำให้ยาอัลปราโซแลมออกฤทธิ์น้อยลง
- ยาที่ใช้รักษาอาการเจ็บปวดบางชนิด เช่น เฟนทานิล (Fentanyl) เมื่อใช้ร่วมกับอัลปราโซแลมอาจออกฤทธิ์กดการทำงานของกระแสประสาทในสมอง ทำให้เกิดภาวะง่วงนอน อ่อนเพลีย ขาดการควบคุมสติ
- ยานอนหลับทุกชนิด เนื่องจากจะออกฤทธิ์กดประสาทมากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะง่วงนอนรุนแรง อ่อนเพลีย ขาดการควบคุมสติ และอาจกดการหายใจจนส่งผลให้หยุดหายใจได้
ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา Alprazolam
ผลข้างเคียงของ Alprazolam คือ
- อาการง่วงซึม
- วิงเวียนศีรษะ
- ปวดศีรษะ
- สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัดเจน
- สูญเสียความสามารถในการเรียนรู้ ความจำ หรือการตัดสินใจ หลงลืม
- มีอาการซึมเศร้า
- มีปัญหาด้านการพูด
- รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- น้ำหนักลด
หรืออาจเกิดปฏิกิริยาในทางตรงกันข้ามกับฤทธิ์ของยา เช่น
- กังวล
- ใจสั่น
- ตื่นเต้น
ส่วนอาการแพ้ยา Alprazolam คือ
- อาการบวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก
- เกิดลมพิษ
- ผื่นแดง
- กลืนลำบาก
- พูดไม่ชัด
- สับสน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
หากมีอาการดังกล่าว คือซึ่งควรหยุดยาและรีบพบแพทย์ทันที

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา Alprazolam ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป สามารถข้ามมื้อไปยังมื้อถัดไปได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานย้อนหลังหรือเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
หากรับประทานยาเกินขนาดควรทำอย่างไร?
การใช้ยา Alprazolam เกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมอย่างรุนแรง สับสน สูญเสียการทรงตัว มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวอย่างสอดประสาน หมดสติ และถึงแก่ชีวิตได้ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยทันที
การเก็บรักษา
- เก็บในบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะบรรจุเดิมที่ปิดสนิท
- เก็บให้พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
การหยุดยา Alprazolam
การใช้ยา Alprazolam ติดต่อกันเป็นเวลานานมักทำให้เกิดภาวะเสพติด หากหยุดใช้ยาแบบทันทีทันใดจะทำให้เกิดอาการขาดยา เช่น นอนไม่หลับ สั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย มีเสียงดังในหู เพ้อ ซึมเศร้า วิตกกังวล และอาจถึงกับชักได้ ดังนั้น หากต้องการหยุดใช้ยา ให้ปรับลดขนาดยาลงทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนสามารถหยุดยาได้ โดยให้แจ้งกับทางแพทย์ผู้รักษา แพทย์จะทำการลดขนาดยาให้อย่างเหมาะสม
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยา Alprazolam
1. Alprazolam ซื้อได้จากที่ไหน?
ไม่สามารถหาซื้อรับประทานเองได้ ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์และรับยา Alprazolam ตามคำสั่งของแพทย์ในสถานพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเท่านั้น
2. กิน alprazolam ทุกวันอันตรายหรือไม่?
การใช้ยา Alprazolam ในขนาดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดการติดยา ซึ่งถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นต้น จึงควรใช้ตามปริมาณที่แพทย์สั่งเท่านั้น
3. Alprazolam มีจำหน่ายในร้านขายยาหรือไม่?
Alprazolam ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากยานี้มีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง นับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา ยา Alprazolam ถูกยกระดับการควบคุมให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ส่งผลให้ร้านขายยาทุกประเภทไม่สามารถขายยาชนิดนี้ได้ ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์และรับยา Alprazolam ตามคำสั่งของแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น
4. อัลปราโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทใด?
ปัจจุบัน Alprazolam จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ซึ่งหมายถึงวัตถุออกฤทธิ์ที่มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ แต่อาจก่อให้เกิดการนำไปใช้หรือมีแนวโน้มในการนำไปใช้ในทางที่ผิดสูง
5. หากใช้ยา Alprazolam อยู่ สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่?
ได้ ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องหยุดยา เพิ่มยา หรือปรับยา Alprazolam ก่อนฉีด แต่อย่างใด เพราะอาจเกิดทำให้เกิดอาการถอนยาหรืออาการข้างเคียงได้ แต่หากมีความกังวลใจ ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนรับการฉีดวัคซีน
6. Xanax คืออะไร?
Xanax เป็นชื่อทางการค้าของยา Alprazolam ใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล และช่วยให้นอนหลับ
- แหล่งข้อมูล
- Entringer, S. (2021). Alprazolam. https://www.drugs.com/alprazolam.html
- Alprazolam หรือ ยาเสียตัว. (2013). https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/SitePages/ViewAcademic.aspx?IDitem=21
- รู้ให้ชัด! ก่อนฉีด‘วัคซีน ผู้ป่วยจิตเวช’ไม่ต้องหยุดยา. (2021). https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30827
- ยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท. (2019). https://mssd.nmd.go.th/wp-content/uploads/2019/03/ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท.docx.pdf
- สุวิทย์ เจริญศักดิ์. (2013). อัลปราโซแลม วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท. https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1026
- อย. พร้อมจำหน่ายอัลปราโซแลมให้สถานพยาบาลทุกแห่งแล้ว. (2013). http://pca.fda.moph.go.th/public_media_detail.php?id=2&cat=50&content_id=390