Overview
- ยา Chlorpheniramine ไม่เพียงแต่บรรเทาอาการแพ้และช่วยลดน้ำมูกเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้เพื่อแก้เมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบินได้อีกด้วย
- Chlorpheniramine หรือ ยา CPM จัดเป็นยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ซึ่งจะทำให้ง่วงซึมหลังรับประทาน เนื่องจากตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและผ่านไปยังสมองได้ ทำให้หลายคนใช้ยาผิดวัตถุประสงค์อย่างการนำยาคลอเฟนิรามีนมาใช้เป็นยานอนหลับ
- Chlorpheniramine เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ควรระมัดระวังในการรับประทานร่วมกับยากลุ่มอื่น เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านเศร้า ยานอนหลับ หรือยาแก้หวัดที่อาจมีส่วนผสมของยาแก้แพ้ตัวอื่นๆ อยู่ด้วย เพราะอาจทำให้เกิดการง่วงซึมรุนแรงและผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมา
ยา Chlorpheniramine (คลอเฟนิรามีน) คืออะไร? | ข้อควรระวัง | วิธีใช้ยา | ผลข้างเคียง | ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน | ลืมรับประทานยา | รับประทานยาเกินขนาด | การเก็บรักษา | คำถามที่พบบ่อย
ยา Chlorpheniramine (คลอเฟนิรามีน) คืออะไร?
สรรพคุณและกลไกการออกฤทธิ์
Chlorpheniramine (อ่านว่า คลอ-เฟ-นิ-รา-มีน) หรือที่เข้าใจในอีกชื่อว่า CPM คือยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นชนิดที่ทำให้ง่วง จัดอยู่ในกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งของสารฮิสตามีน (Histamine) ในร่างกาย ที่เป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้ เช่น น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ผื่นคัน คัดจมูก จาม ลมพิษ และอาการจากโรคหวัดได้อีกด้วย
Chlorpheniramine จะเข้าไปจับกับตัวรับ H1 ของฮิสตามีน เพื่อขัดขวางการทำงานแบบชั่วคราว ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสารฮีสตามินน้อยลง ส่งผลให้อาการเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ น้ำตาไหล ลมพิษ แน่นหน้าอก หรือผื่นคันจากแมลงต่อย พืช สัตว์ สารเคมี หรือสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ บรรเทาลงได้
นอกจากนี้ยาคลอเฟนิรามีนยังออกฤทธิ์ต้านระบบประสาทชนิดโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ได้อีกด้วย ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ง่วงซึม สามารถช่วยบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือ และเมาเครื่องบินอีกได้

ชื่อทางการค้าของยา Chlorpheniramine ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
Chlorpheniramine มีชื่อสารสำคัญว่า คลอเฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine Maleate) ตัวอย่างชื่อทางการค้าในประเทศไทย เช่น CHLORPHENIRAMINE, CHLORPHENIRAMINE MALEATE, CHLORPHEMINE, CHLORPHEN, CHLOPHE, SEVEN STARS’ CHLORPHEN SYRUP, CHLORTAB (Gray, R และ G), ALLERGIN, FARMARS CPM, PROCEMIN, PHEDAMIN
ประเภทของยา
ยาคลอเฟนิรามีนเป็นยาสามัญประจำบ้าน โดยตัวยาจัดอยู่ในกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) หรือยาแก้แพ้ โดยเป็นยาต้านฮิสทามีนรุ่นแรก (First Generation Antihistamine) ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม
รูปแบบของยา
ยา Chlorpheniramine ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 3 รูปแบบ ดังนี้
- ยาเม็ดขนาด 4 มิลลิกรัม (Tablet หรือ Capsule 4 mg.)
- ยาน้ำเชื่อม 2 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (Syrup 2 mg/5ml)
- ยาฉีด 10 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร (Injection 10 mg/ml)
ยา Chlorpheniramine ราคาเท่าไหร่?
ยา Chlorpheniramine เป็นยาที่วางขายตามร้านขายยาทั่วไป สามารถหาซื้อมารับประทานเองได้ด้วยตัวเอง โดยราคาของยาคลอเฟนิรามีนชนิดเม็ดจะอยู่ที่ประมาณ 20-30 บาท ส่วนยาน้ำเชื่อมราคาจะอยู่ที่ประมาณ 40 บาท
ข้อควรระวังก่อนใช้ยา
ผู้ที่สามารถใช้ยา Chlorpheniramine ได้
- เด็กที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไปสามารถใช้ได้ แต่เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปีต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ผู้ที่ไม่มีภาวะของโรคร้ายแรงต่างๆ
- ผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ หรือน้ำมูกไหลจากหวัด
- ผู้ที่มีอาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
ผู้ที่ไม่ควรใช้ยา Chlorpheniramine
ผู้ป่วยที่กำลังมีภาวะต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคลอเฟนิรามีน เพราะอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยา Chlorpheniramine หรือส่วนประกอบของยา
- ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เพราะอาจทำให้เกิดอาการชักได้
- เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ และผู้สูงอายุควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- สตรีมีครรภ์และแม่ให้นมบุตรควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ผู้ป่วยโรคต้อหิน หรือความดันในลูกตาสูง
- ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะขัด หรือลำไส้อุดตัน
- ผู้ป่วยโรคหืด หลอมลมอักเสบ โรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันเลือดสูง
- ผู้ป่วยโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคลมชัก โรคตับ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานหนัก ฯลฯ
- ผู้ที่ใช้ยารักษาภาวะซึมเศร้าภายใน 14 วันก่อนหน้าที่จะใช้ยา Chlorpheniramine
- ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหรือปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังสูง เพราะยาจะทำให้ง่วงซึม
- ห้ามรับประทานยาร่วมกับแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งทำให้อาการง่วงซึมรุนแรง
- ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยา Chlorpheniramine เพราะยาจะทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้
วิธีใช้ยา Chlorpheniramine
ยา Chlorpheniramine เป็นยาที่สามารถหาซื้อจากร้านขายยาโดยเภสัชกรเพื่อรับประทานเองได้ แต่ในกลุ่มเสี่ยงควรใช้ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น คลอเฟนิรามีนสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ โดยมีแนวทางการรับประทานยาโดยทั่วไป ดังนี้
- เด็กอายุ 1-5 ปี: ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง
- เด็กอายุ 6-12 ปี: ให้รับประทานแบบยาเม็ดครั้งละ 2 มิลลิกรัม (ครึ่งเม็ด) ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ไม่เกิน 12 มิลลิกรัมต่อวัน
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: ให้รับประทานแบบยาเม็ดครั้งละ 4 มิลลิกรัม (1 เม็ด) ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ไม่เกิน 24 มิลลิกรัมต่อวัน
นอกจากนี้หากมีการใช้ยาแก้หวัดตัวอื่นๆ อยู่ ควรตรวจเช็กส่วนผมของยาก่อน เพราะอาจมีตัวยา Chlorpheniramine เหมือนกันได้และจะทำให้ปริมาณยาในร่างกายเกินขนาด รวมถึงในระหว่างที่รับประทานยาแก้แพ้ Chlorpheniramine ให้ดื่มน้ำมากๆ เพราะตัวยาทำให้ปากแห้ง คอแห้งได้
ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา
ผลข้างเคียงทั่วไปของยา
- ง่วงซึม
- วิงเวียนศีรษะ
- ปากแห้ง จมูกแห้ง คอแห้ง เสมหะเหนียวข้น
- ปวดท้อง ท้องผูก
- สายตาพร่ามัว
- รู้สึกกระสับกระส่ายและอ่อนเพลีย
ผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรง ควรหยุดยาแล้วไปพบแพทย์
- ใจเต้นเร็วผิดปกติ
- อารมณ์ฉุนเฉียวหรือไม่ปกติ
- เกิดอาการชัก
- เกิดรอยเขียวช้ำได้ง่าย
- อ่อนเพลียผิดปกติ
- หายใจตื้น หายใจลำบาก
- ปัสสาวะขัดหรือปัสสาวะไม่ออก
อาการแพ้ยา Chlorpheniramine
- เกิดลมพิษ
- หายใจลำบาก
- มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ

ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน
มียาบางชนิดเมื่อรับประทานร่วมกับยา Chlorpheniramine อาจไปเพิ่มผลข้างเคียงให้ง่วงซึมมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ได้แก่ ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยากดประสาท ยารักษาอาการซึมเศร้า ยากันชักบางชนิด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้แพ้ชนิดอื่นๆ ตัวอย่างยาเช่น
- Alprazolam (อัลปราโซแลม)
- Lorazepam (ลอราซีแพม)
- Carisoprodol (คาริโซโพรดอล)
- Cyclobenzaprine (ไซโคลเบนซาพรีน)
- Cetirizine (เซทิริซีน)
- Diphenhydramine (ไดเฟนไฮดรามีน)
ฉะนั้นแล้ว หากกำลังรับประทานยาตัวอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มยาข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาคลอเฟนิรามีน เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่จะเกิดขึ้น
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
ให้รับประทานยา Chlorpheniramine ทันทีที่นึกได้ แต่ถ้านึกขึ้นได้เมื่อใกล้ถึงเวลาของรอบต่อไป ให้รอรับประทานยารอบต่อไปได้เลย ไม่ควรรับประทานคลอเฟนิรามีนเพิ่มเป็น 2 เท่า
หากรับประทานยาเกินขนาดควรทำอย่างไร?
ให้คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ง่วงนอนรุนแรง นอนไม่หลับ สับสน อ่อนเพลีย หูอื้อ สายตาพร่ามัว ปากแห้ง ประสาทหลอน และชัก
การเก็บรักษา
ยาคลอเฟนิรามีนจะต้องได้รับการเก็บรักษาที่เหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้คงทน โดยมีวิธีการเก็บยาดังนี
- เก็บคลอเฟนิรามีนไว้ในอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส
- เก็บไว้ในภาชนะบรรจุเดิมที่ได้มา
- เก็บยาไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงไม่ให้ยาโดนแสง
- ไม่เก็บยาไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิหรือความชื้นสูง
- เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
- ไม่ควรแกะยาทิ้งไว้ ให้แกะยาเมื่อถึงเวลารับประทานเท่านั้น
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยา Chlorpheniramine
1. Chlorpheniramine คนท้องกินได้ไหม?
คนท้องสามารถรับประทานยาคลอเฟนิรามีนได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น โดยเฉพาะการรับประทานในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนคลอด เพราะยาคลอเฟนิรามีนอาจทำอันตรายกับทารกในครรภ์ได้
2. Chlorpheniramine Maleate คืออะไร?
Maleate เป็นเกลืออินทรีย์ของกรดมาเลอิก (Maleic Acid) เนื่องจากร่างกายมนุษย์ไม่สามารถดูดซึมยาส่วนใหญ่ได้โดยตรง ดังนั้นยาต่างๆ จึงต้องถูกทำให้อยู่ในรูปของเกลือเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ง่าย เช่น ไอบูโพรเฟน ไลซีน (Ibuprofen Lysine), เซทิริซีน ไดไฮโดรคลอไรด์ (Cetirizine Dihydrochloride), แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) เป็นต้น
3. Chlorpheniramine กินแล้วง่วงไหม?
คลอเฟนิรามีนเป็นยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึม โดยตัวยาสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ใช้ยามีอาการง่วงนอนหลังจากที่รับประทานยาเข้าไป
4. Chlorpheniramine กินทุกวันได้ไหม?
คลอเฟนิรามีน เป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่มักจะใช้เพื่อบรรเทาอาการแพ้ที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ไม่ควรรับประทานเองติดต่อกันนานเกิน 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ
5. Chlorpheniramine ซื้อจากเซเว่นหรือร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ได้ไหม?
คลอเฟนิรามีนเป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานยาอย่างระมัดระวัง และศึกษาวิธีใช้ยาตามที่ระบุไว้บนฉลาก
6. Chlorpheniramine 4 mg คืออะไร?
Chlorpheniramine 4 mg คือยาคลอเฟนิรามีนชนิดเม็ดขนาด 4 มิลลิกรัม เป็นขนาดยาแนะนำสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ โดยควรกิน 1 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน
7. ยาแก้แพ้ Histatab คืออะไร? กินแล้วง่วงไหม?
Histatab เป็นชื่อทางการค้าหนึ่งของยาคลอเฟนิรามีน มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานยนต์หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
- แหล่งข้อมูล
- Multum, C. (2021). Chlorpheniramine. https://www.drugs.com/mtm/chlorpheniramine.html
- National Center for Advancing Translational Sciences. (n.d.). CHLORPHENIRAMINE MALEATE. https://drugs.ncats.io/substance/V1Q0O9OJ9Z
- New Zealand Self-Medication Industry. (2010). CHLORPHENIRAMINE. https://www.medsafe.govt.nz/Consumers/cmi/CoughandCold/Chlorphenamine1.pdf
- กนกวรรณ ศักดิ์สกุลไกร. (2014). ยาแก้แพ้กลุ่มที่ทำให้ง่วงและไม่ง่วง รักษาอาการแพ้ได้เหมือนกันจริงหรือ?. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=27
- ยามาระตี จัยสิน. (n.d.). ยาแก้แพ้ (antihistamine). http://med.swu.ac.th/pharmacology/images/ying/Anti-Histamine.pdf
- วิสิฏฐ์ศรี เพิ่มสุขจิตต์. (n.d.). ยาที่ใช้ในระบบทางเดินหายใจ. https://mssd.nmd.go.th/wp-content/uploads/ยาที่ใช้ในระบบทางเดินหายใจ.pdf
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. (n.d.). สวัสดีเราคือยาแก้แพ้. https://db.oryor.com/databank/data/printing/PrintMedia/600421สไลด์_นอนไม่หลับกินยาแก้แพ้แทนได้ไหม___1319.pdf