ยาคุมฉุกเฉินคืออะไร? | ยาคุมฉุกเฉิน VS ยาคุมกำเนิดทั่วไป | ยาคุมฉุกเฉินใช้ในสถานการณ์ใด? | ยาคุมฉุกเฉินมีกี่ประเภท? | ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาคุมฉุกเฉิน | วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน | ผลข้างเคียงจากยาคุมฉุกเฉิน | กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนจะมาตอนไหน? | กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจําเดือนไม่มา? | ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
เมื่อพูดถึงยาคุมกำเนิด เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีความเข้าใจกันอยู่ระดับหนึ่งแล้ว สาวๆ หลายคนน่าจะเคยใช้ยาคุมกำเนิดมาก่อนด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อคุมกำเนิด (ตามชื่อยา) เพื่อปรับฮอร์โมน เพื่อลดสิว ไปจนถึงเพื่อเหตุผลด้านความงามแบบอื่นๆ
แต่ถ้าพูดถึงยาคุมฉุกเฉินล่ะ..? เรื่องของยาคุมฉุกเฉินเป็นอะไรที่ไม่แปลกใหม่ แต่ก็ไม่สามัญ เพราะมันเป็นยาคุมกำเนิดแบบที่เกิดมาเพื่อใช้คุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเปรียบเสมือนทางออกฉุกเฉินจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือป้องกันแล้วผิดพลาด เพราะฉะนั้น หากสาวๆ คนไหนยังใช้ยาคุมฉุกเฉินเป็นทางออกเดียวในการคุมกำเนิดอยู่ ขอบอกเลยว่า คุณต้องหยุดแล้วนะ มันอันตรายมาก!

ยาคุมฉุกเฉินคืออะไร?
ยาคุมฉุกเฉิน หรือ ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (ภาษาอังกฤษเรียกว่า Emergency Contraceptive Pills, Morning-After Pills, หรือ Postcoital Contraception) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดที่มีขนาดฮอร์โมนสังเคราะห์สูง ทำหน้าที่รบกวนการผลิตฮอร์โมนตามธรรมชาติของร่างกายที่จำเป็นต่อการตกไข่และการตั้งครรภ์ โดยจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อใช้ภายใน 2 – 3 วันหลังจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ตัวฮอร์โมนสังเคราะห์ในยาจะไปขัดขวางกระบวนการตกไข่ การปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ รวมถึงกระบวนการฝังตัวของไข่ ทำให้ช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ราว 75 – 85%
ยาคุมฉุกเฉินแตกต่างจากยาคุมกำเนิดทั่วไปอย่างไร?
ข้อแตกต่าง | ยาคุมกำเนิดทั่วไป | ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน |
---|---|---|
จุดประสงค์ในการใช้ | ใช้ในการคุมกำเนิดระยะยาว โดยต้องรับประทานทุกวัน (หรือทุกวันแล้วเว้น 7 วันทุกเดือนตามชนิดของยาคุมที่เลือก) | ใช้ในการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินหลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน/การป้องกันผิดพลาด/ถูกข่มขืน โดยจะต้องรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ |
กลไกการทำงาน | ทำให้ไข่เคลื่อนผ่านท่อนำไข่ได้ยาก ช่วยปรับเมือกบริเวณปากมดลูกให้มีความเป็นด่างและเหนียวข้นจนสเปิร์มวิ่งเข้าไปหาไข่ไม่ได้ ไปจนถึงช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการตกไข่ พอไม่มีไข่ก็ไม่มีอะไรให้สเปิร์มไปปฏิสนธิได้ | รบกวนการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ และปรับเยื่อบุมดลูกให้บางลงเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ที่ปฏิสนธิแล้วสามารถฝังตัวที่ผนังมดลูกได้ |
เมื่อใช้คุมกำเนิดระยะยาว | ได้ผลดี | ไม่เหมาะสม ใช้สำหรับคุมกำเนิดเป็นครั้งๆ ไปในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ในการคุมกำเนิดระยะยาว เพราะประสิทธิภาพด้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับการคุมกำเนิดแบบอื่น เมื่อใช้ต่อเนื่องนานๆ ก็อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติอีกด้วย |
สถานการณ์แบบไหนที่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉิน?
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นๆ ล้มเหลว เช่น ถุงยางแตก ถุงยางหลุด หมวกครอบปากมดลูกหลุด ห่วงคุมกำเนิดหลุด ยาคุมแบบฝังหลุด ฯลฯ
- ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดเกิน 2 เม็ดขึ้นไป
- ไม่ได้ไปฉีดยาคุมตามเวลาที่กำหนดตั้งแต่ 2 อาทิตย์ขึ้นไป
ยาคุมฉุกเฉินมีกี่ประเภท?
ยาคุมฉุกเฉินแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนเดี่ยว เป็นยาที่ประกอบด้วยฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสตินสังเคราะห์เพียงอย่างเดียว เป็นชนิดที่แพร่หลายที่สุดในประเทศไทย
- ยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนผสม เป็นยาที่ประกอบด้วยฮอร์โมนในกลุ่มโปรเจสติน และฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน
- ยาคุมฉุกเฉินแบบต้านโปรเจสติน เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการคิดค้นยาคุมฉุกเฉิน และให้ผลลัพธ์ในการคุมกำเนิดดีกว่ายาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนเดี่ยวมาก แต่มีราคาสูงกว่า
ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาคุมฉุกเฉิน
- แม้ว่าการรับประทานยาคุมฉุกเฉินจะช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง เนื่องจากเป็นการรับฮอร์โมนขนาดสูงในเวลาสั้นๆ จึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติบางอย่างต่อร่างกายผู้รับประทานยา เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว ปวดท้อง เจ็บเต้านม มีประจำเดือนผิดปกติ ฯลฯ หากมีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- ไม่ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการท้องนอกมดลูกได้ รวมถึงมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดน้อยเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ นอกจากนี้ยังไม่ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 แผงในรอบเดือนเดียว เพราะจะส่งผลให้ฮอร์โมนผิดปกติได้ และถ้าคุณมีเหตุให้ต้องกินยาคุมฉุกเฉินมากกว่า 2 – 3 ครั้งต่อปี ขอแนะนำให้ใช้ยาคุมแบบทั่วไปอย่างต่อเนื่องไปเลยดีกว่า
- การใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่ทำให้เกิดการแท้งแต่อย่างใด เนื่องจากการตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตัวอ่อนมีการฝังตัวแล้วเท่านั้น ในขณะที่ยาคุมฉุกเฉินมีหน้าที่ยับยั้งไม่ให้เกิดการฝังตัวได้ (ฝังตัวไม่ได้ = ไม่ตั้งครรภ์) หากตั้งครรภ์แล้วก็ไม่เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ด้วย
- ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินจะลดลงในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ดังนั้นผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ควรกินยาคุมฉุกเฉินทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์

วิธีกินยาคุมฉุกเฉิน
- ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 แผงมี 1 เม็ด: ควรกินยาทันทีหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือภายใน 72 ชั่วโมงแรก
- ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 แผงมี 2 เม็ด: ควรกินยาเม็ดแรกทันทีหลังจากการมีเพศสัมพันธ์หรือภายใน 72 ชั่วโมงแรก และกินยาเม็ดที่ 2 หลังจากเม็ดแรก ใน 12 ชั่วโมงถัดมา
ยาคุมฉุกเฉินกินตอนไหน?
กินภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ โดยยิ่งกินเร็ว ยาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะกินพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
ยาคุมฉุกเฉินต้องกินเม็ดไหนก่อน?
ยาคุมฉุกเฉินที่มีขายในประเทศไทยเป็นยาฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล ซึ่งอยู่ในกลุ่มยาฮอร์โมนเดี่ยว สามารถกินเม็ดไหนก่อนก็ได้ เพราะไม่มีความแตกต่างกัน
ยาคุมฉุกเฉินกิน 2 เม็ดพร้อมกันได้ไหม?
สามารถกินพร้อมกันได้ ไม่ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาด้อยลง แต่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนมากขึ้น การแบ่งทานจะช่วยลดผลข้างเคียงได้ดีกว่า
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีเลือดคล้ายประจำเดือนออกกะปริบกะปรอย หรือตกขาวเป็นสีน้ำตาล
- ปวดศีรษะ ปวดท้องช่วงล่าง เจ็บตึงเต้านม
- รู้สึกเพลีย ร่างกายอ่อนล้า
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
- มีความเสี่ยงในการท้องนอกมดลูก กรณีที่การคุมกำเนิดไม่ได้ผล
กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจำเดือนจะมาตอนไหน?
การบอกว่าหลังกินยาคุมฉุกเฉินประจำเดือนจะมาเมื่อไหร่นั้นตอบได้ยากมาก เพราะการกินยาคุมฉุกเฉินจะส่งผลให้ประจำเดือนมาเร็วหรือช้ากว่ารอบปกติ (โดยมากมักจะช้าไม่เกิน 7 วัน) รวมถึงส่งผลให้ประจำเดือนมามากหรือน้อยกว่าปกติด้วย
อย่างไรก็ตาม ประจำเดือนควรจะมาภายใน 3 อาทิตย์หลังจากกินยาคุมฉุกเฉิน หากรับประทานยาคุมฉุกเฉินแล้วมีเลือดออก โดยตรงกับช่วงที่มีรอบเดือนอยู่แล้วพอดีก็อาจจะเป็นเลือดประจำเดือนตามปกติ แต่หากมีเลือดออกกะปริบกะปรอยหรือตกขาวสีคล้ำโดยไม่ได้อยู่ในช่วงที่รอบเดือนมา อาจเป็นผลข้างเคียงจากยา ซึ่งปกติจะหายไปเอง ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์
กินยาคุมฉุกเฉินแล้วประจําเดือนไม่มา ควรทำอย่างไร?
การกินยาคุมฉุกเฉินเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อนได้ หากประจำเดือนมาช้าเกินรอบปกติตั้งแต่ 14 วันเป็นต้นไป ควรลองตรวจการตั้งครรภ์ด้วยชุดทดสอบการตั้งครรภ์หรือไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา แต่หากไม่มีการตั้งครรภ์ ประจำเดือนมักจะกลับมาเป็นปกติในรอบถัดไป

ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
1. ยาคุมฉุกเฉินราคาเท่าไหร่?
ราคาประมาณ 40 – 60 บาทต่อแผง โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
2. กินยาคุมฉุกเฉินบ่อยๆ อันตรายหรือไม่?
การกินยาคุมฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้ประสิทธิภาพยาลดลง เป็นเหตุให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก นอกจากนี้การกินยาคุมฉุกเฉินบ่อยๆ ยังทำให้เกิดการสะสมฮอร์โมนในร่างกายโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย
3. กินยาคุมฉุกเฉินแล้วมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
หากมีเพศสัมพันธ์อีกครั้งหลังจากกินยาคุมฉุกเฉินโดยไม่มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ โอกาสที่จะตั้งครรภ์ก็จะยิ่งสูงขึ้นอีก
ทางที่ดีที่สุดคือไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หลังจากกินยาคุมฉุกเฉิน หากมี ต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
4. กินยาคุมฉุกเฉินเม็ดที่ 2 ช้า มีผลอะไรหรือไม่?
ประสิทธิภาพของยาอาจลดลง หากยังไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากกินเม็ดแรก ควรกินเม็ดที่สองทันที หากพ้น 24 ชั่วโมงหลังกินยาเม็ดแรกไปแล้ว แต่ไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ สามารถซื้อยาแผงใหม่มารับประทานแทนแล้วทิ้งยาแผงเดิมได้เลย ทั้งนี้ควรปรึกษาเภสัชกรก่อน
- แหล่งข้อมูล
- ทวิวัน พันธศรี. (2010). การคุมกำเนิดฉุกเฉิน. https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=268:emergency-contraception&catid=39&Itemid=360
- นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. (2017). ความรู้ทั่วไปเรื่องยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/419/ยาคุมฉุกเฉิน/