Overview
- กรดโฟลิก หรือ Folic Acid คือ รูปแบบที่สังเคราะห์ขึ้นมาของโฟเลตหรือวิตามินบี 9 โดยปกติวิตามินบี 9 ตามธรรมชาติมักได้จากการรับประทานอาหารจำพวก เนื้อ เครื่องในสัตว์ ไข่ นม ผักสีเขียว ผลไม้
- กรดโฟลิกมีความจำเป็นต่อทารกในช่วง 3-4 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ เพื่อช่วยส่งเสริมกระบวนการสร้างหลอดประสาท ลดความเสี่ยงสำหรับความพิการแต่กำเนิดของทารก ผู้ที่วางแผนมีบุตรควรรับประทานกรดโฟลิกล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือนก่อนตั้งครรภ์
- กรดโฟลิกเป็นวิตามินที่มีส่วนช่วยในการผลิตเม็ดเลือดแดง จึงนำมาใช้รักษาผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดโฟเลต โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานทุกครั้ง
กรดโฟลิก (Folic Acid) คืออะไร? | วิธีใช้ | ประโยชน์ | ข้อควรระวัง | ผลข้างเคียง | ยาที่ไม่ควรทานร่วมกัน | ลืมรับประทาน | รับประทานเกินขนาด | การเก็บรักษา | คำถามที่พบบ่อย
กรดโฟลิก (Folic Acid) คืออะไร?
กรดโฟลิก (Folic Acid) เป็นรูปแบบสังเคราะห์ขึ้นของโฟเลต (Folate) หรือวิตามินบี 9 ที่มักจะพบในอาหาร เช่น ผักสีเขียว ตับ นมสด ฯลฯ แต่กรดโฟลิกถูกผลิตขึ้นเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมรวมกับวิตามินบีตัวอื่นๆ
กรดโฟลิกถูกนำไปใช้เพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดโฟเลต และบำรุงครรภ์เพื่อให้ทารกเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ Folic Acid ในผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง และผู้ที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมโฟเลตตามธรรมชาติได้
กรดโฟลิก (Folic Acid) กับโฟเลต (Folate) แตกต่างกันอย่างไร?
กรดโฟลิก (Folic acid) และโฟเลต (Folate) เป็นวิตามินบี 9 เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงที่กรดโฟลิกเป็นวิตามินที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น อยู่ในรูปแบบของอาหารเสริม เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วร่างกายจึงเปลี่ยนเป็นโฟเลตเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ส่วนโฟเลตเป็นวิตามินที่พบได้ในธรรมชาติ โดยร่างกายสามารถรับโฟเลตจากการรับประทานอาหารต่างๆ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้ เห็ด ถั่วและธัญพืช ฯลฯ แต่โฟเลตมีความทนทานต่อความร้อนน้อยกว่ากรดโฟลิก จึงอาจถูกทำลายระหว่างการปรุงอาหารได้
กรดโฟลิกทำอะไรกับร่างกายของเรา?
โฟลิกเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาออกฤทธิ์ครึ่ง – 1 ชั่วโมง โดยจะถูกดูดซึมบริเวณลำไส้ จากนั้นจึงเคลื่อนที่ไปยังตับ และเอนไซม์ไดไฮโดรโฟเลตรีดักเทส (Dihydrofolate Reductase) จะเปลี่ยนกรดโฟลิกให้กลายเป็นสาร 2 ชนิดคือ เดตระไฮโดรโฟเลต (Tetrahydrofolate) และเมทิลเตตระไฮโดรโฟเลต (Methyl Tetrahydrofolate) ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในกระบวนต่างๆ ของร่างกายต่อไป
ทำไมกรดโฟลิกจึงสำคัญอย่างมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์?

โฟลิกมีบทบาทในการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันภาวะซีดหรือโลหิตจาง ช่วยเพิ่มความเจริญอาหารในมารดาที่กำลังตั้งครรภ์ และยังมีบทบาทสำคัญต่อทารกโดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดย Folic Acid ช่วยส่งเสริมกระบวนการสร้างหลอดประสาท เพื่อพัฒนาไปเป็นระบบประสาท สมอง ไขสันหลัง รวมถึงเส้นประสาทต่างๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดหรือความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ การพัฒนาสมองและกระโหลกศีรษะไม่สมบูรณ์ ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง ฯลฯ
ดังนั้นคุณแม่จึงควรรับประทานกรดโฟลิกตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วง 3 เดือนแรก เพราะหากเลยช่วงเวลาสร้างและพัฒนาหลอดประสาทไปแล้ว ทารกอาจจะเกิดความพิการโดยไม่สามารถป้องกันได้ทัน
กรดโฟลิกยี่ห้อไหนดี? เช็คชื่อทางการค้าของกรดโฟลิกที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน
ตัวอย่างชื่อทางการค้าของกรดโฟลิก เช่น
- FOLIC F GPO ผลิตโดย องค์การเภสัชกรรม
- FOLIVIT ผลิตโดย บริษัท สยามเภสัช จำกัด
- FOLIAMIN ผลิตโดย บริษัท อินเตอร์ไทย ฟาร์มาซูติเคิ้ล แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด
- GNC FOLIC ACID ผลิตโดย บริษัท เอสเอสยูพี โทแทล เวลเนส จำกัด
- BLACKMORES FOLIC ACID ผลิตโดย บริษัท แบลคมอร์ส จำกัด
- FOLIMED ผลิตโดย บริษัท เมดิซีน โปรดักส์ จำกัด
- BOOTS FOLIC ACID ผลิตโดย บริษัท ฟาร์มาสันต์แล็บบอราตอรี่ส์ จำกัด
- F – MIN ผลิตโดย บริษัท พาตาร์แลบ (2517) จำกัด
รูปแบบของกรดโฟลิกที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน
โฟลิกที่มีวางจำหน่ายทั่วไปอยู่ในรูปแบบเม็ด โดยมีทั้งแบบที่เป็นโฟลิกอย่างเดียว และแบบผสมกับวิตามินชนิดบีตัวอื่นๆ
กรดโฟลิกราคาประมาณเท่าไหร่?
โฟลิกในรูปแบบเม็ด มีราคากลางไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากบัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 อยู่ที่เม็ดละ 0.43 บาท
วิธีใช้กรดโฟลิก และปริมาณที่เหมาะสม
- คนทั่วไปควรได้รับกรดโฟลิกวันละ 400 ไมโครกรัม โดยสามารถรับประทานกรดโฟลิกในรูปแบบอาหารเสริมวันละ 1 ครั้ง เวลาใดก็ได้ เพราะไม่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณ 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน โดยรับประทานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ 2-3 เดือน ต่อเนื่องไปจนถึงระหว่างตั้งครรภ์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- หญิงที่ให้นมบุตรควรรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณ 500 ไมโครกรัมต่อวัน
- ผู้ป่วยภาวะโลหิตจาง ควรรับประทานกรดโฟลิกติดต่อกันประมาณ 4 เดือนเป็นอย่างต่ำ ซึ่งปริมาณขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา แต่หากผู้ป่วยขาดวิตามินบี 12 ร่วมด้วย ไม่ควรเสริมกรดโฟลิกเพียงอย่างเดียวเพราะอาจทำให้อาการทางระบบประสาทแย่ลง
ประโยชน์ของกรดโฟลิก
- ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ ซึ่งจะสามารถนำพาออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ภายในร่างกายได้อย่างดี
- ป้องกันภาวะซีดและโลหิตจาง (Anemia) ที่เกิดจากการขาดโฟเลต (Folate Deficiency Anemia)
- ช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการทางร่างกายสมบูรณ์ ทั้งสมอง กระโหลก ไขสันหลัง เพื่อป้องกันภาวะความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina bifida)
- ควบคุมและและเผาผลาญกรดอะมิโนที่ชื่อว่า โฮโมซีสทีน (Homocysteine) ให้อยู่ในระดับปกติ จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้
- ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ และภาวะถดถอยทางสมอง เนื่องจากกรดโฟลิกมีประโยชน์ในการบำรุงสมองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรับประทานยา Methotrexate ซึ่งใช้รักษาโรคข้ออักเสบ โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคโครห์น
- ใช้กรดโฟลิกร่วมกับยาต้านซึมเศร้า ช่วยลดอาการของเป็นโรคซึมเศร้าได้

ข้อควรระวังในการใช้กรดโฟลิก
- ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนซื้อกรดโฟลิกมารับประทาน เพื่อให้ทราบถึงปริมาณที่เหมาะสมในการรับประทาน
- หากรับประทานกรดโฟลิกแล้วมีผลข้างเคียงรุนแรง หรือมีอาการแพ้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยทันทีผู้ที่สามารถใช้กรดโฟลิก
ผู้ที่สามารถใช้กรดโฟลิก
- ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดแดงแตกง่าย
- หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติบุคคลในครอบครัวหรือเคยคลอดบุตรที่มีภาวะพิการแต่กำเนิด
- หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรรับประทานกรดโฟลิก เพื่อทดแทนการสูญเสียเลือดจากประจำเดือน
- ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร รับประทานอาหารได้น้อย
- ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องได้รับการฟอกไตอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ที่มีความผิดปกติของลำไส้เล็ก ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมกรดโฟลิกได้
- ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านการทำงานของกรดโฟลิก
- ผู้ป่วยที่รับประทานยาที่มีฤทธิ์ต้านการทำงานของกรดโฟลิก เช่น ยาเคมีบำบัด
ผู้ที่ไม่ควรใช้กรดโฟลิก
- ผู้ที่มีประวัติแพ้กรดโฟลิกหรือมีประวัติการแพ้ยา
- ผู้ป่วยภาวะโลหิตจางที่ยังไม่ทราบสาเหตุไม่ควรรับประทานกรดโฟลิก เพราะอาจไปบดบังอาการของภาวะโลหิตจางจากสาเหตุอื่น ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคตับ โรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่มีการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานกรดโฟลิก
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบไม่ควรรับประทานกรดโฟลิก รวมถึงวิตามินบี 6 และ 12 เพราะจะทำให้อาการแย่ลง
- ผู้ที่เป็นโรคลมชักไม่ควรรับประทานกรดโฟลิกในประมาณสูง เพราะจะทำให้อาการชักแย่ลง
ผลข้างเคียงและอาการแพ้
กรดโฟลิก หรือ Folic Acid คือวิตามินที่ค่อนข้างปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อย อย่างไรก็ตามยังสามารถพบผลข้างเคียงได้บ้างในบางคน เช่น
- อาการเวียนศีรษะ
- นอนไม่หลับ
- กระสับกระส่าย
- ซึมเศร้า
- เบื่ออาหาร
- ท้องอืด
นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการแพ้ได้ในผู้ใช้บางราย ซึ่งจะมีอาการโดยทั่วไป เช่น
- มีไข้ อ่อนเพลีย
- มีผื่นคัน
- แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
- หน้าบวม ปากบวม
หากพบอาการเหล่านี้ให้หยุดรับประทานแล้วไปพบแพทย์โดยทันที
ยาที่ไม่ควรทานร่วมกับกรดโฟลิก
- ไม่ควรรับประทานกรดโฟลิกร่วมกับยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือยาลดกรดที่มีส่วนผสมของ อะลูมิเนียมและแมกนีเซียม เพราะอาจไปขัดขวางการดูดซึมกรดโฟลิกได้
- หากมีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยาต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานโฟลิก
- ยา Methotrexate เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- ยา Sulfasalazine เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบและบวม
- ยา Cholestyramine เป็นยาลดคลอเลสเตอรอล
- ยา Pyrimethamine เป็นยารักษาการติดเชื้อปรสิต
- ยารักษาโรคลมชัก เช่น Phenytoin, Fosphenytoin, Phenobarbital, Primidone
- ยารักษาโรคมะเร็ง เช่น Fluorouracil, Capecitabine, Raltitrexed, Tegafur
- ยาที่มีส่วนประกอบของซิงค์ (Zinc) เช่น ยาแก้หวัด และยาอมแก้เจ็บคอ

หากลืมรับประทานโฟลิกควรทำอย่างไร?
ในกรณีที่รับประทานตามแพทย์สั่งสามารถอ่านจากฉลากยาได้ แต่หากลืมรับประทานกรดโฟลิกให้รับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากเวลาที่นึกขึ้นได้ใกล้กับเวลารับประทานในครั้งต่อไป ให้ข้ามโดสที่ลืมไปและรับประทานโดสถัดไปเมื่อถึงเวลา
หากรับประทานโฟลิกเกินขนาดควรทำอย่างไร?
โดยปกติแล้วปริมาณกรดโฟลิกที่ได้รับในแต่ละวันไม่ควรเกิน 1,000 ไมโครกรัม ยกเว้นในกรณีที่แพทย์ระบุให้รับประทานมากกว่านี้ การรับประทานกรดโฟลิกต่อวันสูงเกิดนที่กำหนดอาจทำให้บดบังภาวะการขาดวิตามินบี 12 และนำไปสู่ความเสียหายต่อระบบประสาทได้
การเก็บรักษากรดโฟลิก
กรดโฟลิกในรูปแบบเม็ด ควรเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิม โดยเก็บไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงแสงแดดและความร้อน
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกรดโฟลิก
1. ผู้ชายควรกินโฟลิกไหม?
โดยทั่วไปผู้ชายสามารถได้รับโฟเลตหรือวิตามินบี 9 ที่เพียงพอต่อร่างกายจากการรับประทานอาหารอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานกรดโฟลิกเพิ่ม แต่หากต้องการรับประทานเป็นอาหารเสริมหรือมีภาวะโลหิตจาง ก็สามารถรับประทานกรดโฟลิกได้เช่นกัน
2. ควรกินกรดโฟลิกตอนไหน?
กรดโฟลิกสามารถรับประทานได้ทุกเวลา เพราะไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่นิยมรับประทานหลังอาหารมื้อเช้า เพื่อสะดวกในการจำและป้องกันการลืมรับประทาน
3. กรดโฟลิกควรเริ่มกินเมื่อไหร่?
สำหรับผู้ที่กำลังวางแผนมีบุตร ควรเริ่มรับประทานกรดโฟลิกอย่างน้อย 2-3 ก่อนการตั้งครรภ์ ต่อเนื่องไปจนถึงระหว่างตั้งครรภ์รวมถึงช่วงให้นมบุตร นอกจากนี้ก็ควรรับประทานกรดโฟลิกเมื่อมีภาวะโลหิตจางหรือตามที่แพทย์สั่ง
4. กรดโฟลิกกินตอนตั้งครรภ์แล้วยังมีประโยชน์อยู่ไหม?
การรับประทานกรดโฟลิกเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก ควรรับประทานก่อนการตั้งครรภ์ 2-3 เดือน ไปจนถึงช่วงเริ่มตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพราะหลังการเกิดการปฏิสนธิได้ 3- 4 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มมีการสร้างและพัฒนาหลอดประสาท ซึ่งหากกระบวนการสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว การรับประทานโฟลิกก็จะไม่สามารถป้องกันความพิการได้
5. กรดโฟลิกอยู่ในอาหารประเภทไหน?
กรดโฟลิกสามารถพบได้อาหารหลากหลายชนิด ดังนี้
- ผักใบเขียว เช่น คะน้า ตำลึง บรอคโคลี่ ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกาดหอม หน่อไม้ฝรั่ง
- ผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม เมล่อน มะนาว มะเขือเทศ อะโวคาโด
- เห็ดชนิดต่างๆ
- ถั่วเมล็ดแห้ง และธัญพืชไม่ขัดสี
- ไข่
- นม
- เนื้อสัตว์ ตับ ไต เครื่องใน
- แหล่งข้อมูล
- Folic Acid. (n.d.). https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1017/folic-acid
- Folic acid. (2019). https://www.nhs.uk/medicines/folic-acid/
- Raman, R. (2021). Folic Acid for Men: Benefits, Side Effects, and More. https://www.healthline.com/nutrition/folic-acid-for-men
- RAMA Channel. (2021, August 24). “กรดโฟลิก” ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย : Rama Square ช่วง สาระปันยา 8 พ.ย.61(3/3). https://youtu.be/F3dDcBwANAA
- RAMA Channel. (2021, August 24). โฟลิกจำเป็น สะสมไว้ก่อนตั้งครรภ์ ป้องกันลูกพิการ : พบหมอรามา ช่วง Big Story 24 เม.ย.60 (2/5). https://youtu.be/z867JyWgiPg
- พัฒนะ ไกรนิตย์. (2020). โฟลิกกับการตั้งครรภ์. https://www.synphaet.co.th/โฟลิกกับการตั้งครรภ์/
- ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา. (n.d.). โรคเลือดจางจากการขาดวิตามินโฟเลต. http://tsh.or.th/Knowledge/Details/63
- วรประภา ลาภิกานนท์. (n.d.). โฟลิกกับโฟเลตต่างกัน แม้ท้องต้องเลือกกินให้เหมาะต่อร่างกาย. https://www.rakluke.com/community-of-the-experts/pregnancy-must-know/item/folic-and-folate.html
- วันวิสาข์ อุดมสินประเสริฐ. (2020). โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กับกรดโฟลิก .. คุณประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม. http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=1078