Overview
- ยากาบาเพนติน (Gabapentin) คือยาป้องกันอาการชัก (Anticonvulsant) ชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการระงับระบบประสาทและสารเคมีในสมองที่ก่อให้เกิดอาการชัก และนำมาใช้รักษาอาการปลายประสาทอักเสบด้วย มีชื่อทางการค้าว่า “นิวรอนติน” (NEURONTIN) และ “วัลทิน” (VULTIN)
- ตัวยาจะเข้าสู่ร่างกายและไปจับกับตัวรับที่อยู่ในสารสื่อประสาท ออกฤทธิ์ในการยังยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทเพื่อลดการทำงานของเซลล์ประสาท ทำให้สามารถรักษาอาการชักแบบเฉพาะที่ และอาการปวดตามเส้นประสาท
- ผลข้างเคียงจากการทานยาคือมีอาการมึนงง ง่วง อ่อนล้า แขนและขาบวม คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ตาพร่ามัว และอาจทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือตื่นตระหนก หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้ และมีปัญหาในการนอนหลับได้
ยา Gabapentin คืออะไร? | ข้อควรระวัง | วิธีใช้ยา | ผลข้างเคียง | ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน | ลืมรับประทาน | รับประทานยาเกินขนาด | การเก็บรักษา | การหยุดยา | คำถามพบบ่อย
ยา Gabapentin คืออะไร?
สรรพคุณและกลไกการออกฤทธิ์
ยากาบาเพนติน (Gabapentin) คือยาป้องกันอาการชัก (Anticonvulsant หรือ Anti-epileptic Drug) ชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการระงับระบบประสาทและสารเคมีในสมองที่ก่อให้เกิดอาการชัก และนำมาใช้รักษาอาการปลายประสาทอักเสบด้วย เช่น เส้นประสาทอักเสบในโรคเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) และอาการปวดเส้นประสาทจากโรคงูสวัด (Post-herpetic Neuralgia)
เมื่อคนไข้รับประทานยากาบาเพนตินเข้าไปแล้ว ตัวยาจะไปจับกับตัวรับที่อยู่ในสารสื่อประสาท แล้วออกฤทธิ์ในการยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาท เพื่อลดการทำงานของเซลล์ประสาท ทำให้สามารถรักษาอาการชักแบบเฉพาะที่ (Partial Seizure) อาการปวดตามเส้นประสาท เช่น โรคงูสวัด โรคมะเร็ง กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg syndrome) และมีผลทำให้อาการชักค่อยๆ เบาลง

ชื่อทางการค้าของยา Gabapentin ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
ชื่อทางการค้าของยากาบาเพนติน (Gabapentin) คือ นิวรอนติน (300 มก.) หรือ NEURONTIN (CAPSULES 300 MG)
ประเภทของยา
ยากาบาเพนติน (Gabapentin) อยู่ในกลุ่มยาป้องกันอาการชัก (Anticonvulsant) และเป็นยาตามใบสั่งแพทย์
รูปแบบของยา
รูปแบบของยากาบาเพนติน (Gabapentin) เป็นยาเม็ดแบบแคปซูลขนาด 100, 300, 400 มิลลิกรัม และชนิดเม็ด ขนาด 600 มิลลิกรัม
ยา Gabapentin ราคาเท่าไหร่?
จากประกาศของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ราคากลางของยา Gabapentin ดังนี้
- แคปซูลขนาด 100 มก. ราคากลางแคปซูลละ 2.59 บาท
- แคปซูลขนาด 300 มก. ราคากลางแคปซูลละ 3.50 บาท
- แคปซูลขนาด 400 มก. ราคากลางแคปซูลละ 4.35 บาท
- แบบเม็ดขนาด 600 มก. ราคากลางเม็ดละ 7.00 บาท
ข้อควรระวังก่อนใช้ยา Gabapentin
ยากาบาเพนตินเป็นยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่ควรหาซื้อมารับประทานเอง เพราะอาจเกิดอันตรายจากการรับประทานยานี้ได้
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ยา
- ห้ามใช้ยา Gabapentin ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ
- ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคไตหรืออยู่ในระหว่างฟอกไต
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ เพราะอาจทำให้หยุดหายใจจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- ผู้ป่วยบางรายที่ได้รับยา Gabapentin อาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนหรือคิดฆ่าตัวตายได้ จึงควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือมีอาการผิดปกติทางจิต
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดท้องตลอดเวลา อ่อนเพลีย
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับประทาน
- เลี่ยงการขับรถหรือใช้งานเครื่องจักร เพราะตัวยาจะทำให้ง่วงซึมและนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
- ห้ามหยุดรับประทานยา Gabapentin เองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
- ห้ามรับประทานยาร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดทุกชนิด เพราะจะทำให้ง่วงซึมรุนแรง
วิธีใช้ยา Gabapentin
การใช้ยาในผู้ป่วยโรคลมชัก
- โรคลมชักในเด็กที่มีอายุ 3-12 ปี
เริ่มต้นใช้ยาที่ปริมาณ 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แบ่งเป็น 3 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นแพทย์จะปรับยาให้ตามความเหมาะสม - โรคลมชักในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่
ในวันแรกแพทย์จะให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน หลังจากนั้นแพทย์จะปรับขนาดยาตามความเหมาะสมแต่จะไม่เกินวันละ 3,600 มิลลิกรัม
การใช้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการปวดปลายประสาท
อาการปวดปลายประสาทจากการเป็นโรคงูสวัดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปและในผู้ใหญ่ แพทย์จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้
- วันที่ 1: 300 มิลลิกรัม 1 ครั้ง
- วันที่ 2: 300 มิลลิกรัม 2 ครั้ง ในเวลาเช้าและเย็น
- วันที่ 3: 300 มิลลิกรัม 3 ครั้ง ในเวลาเช้า กลางวัน และเย็น
จากนั้นทำการประเมินเพื่อปรับขนาดปริมาณยาที่ช่วยควบคุมอาการได้อย่างเหมาะสมที่สุด โดยมีขนาดสูงสุดไม่เกิน 3,600 มิลลิกรัมต่อวัน
การใช้ยาในผู้ป่วยที่มีอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome)
สำหรับอาการขาอยู่ไม่สุขในผู้ใหญ่จะให้รับประทาน 600 มิลลิกรัม 1 ครั้งต่อวันพร้อมมื้ออาหาร
ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา Gabapentin
ผลข้างเคียงทั่วไปจากการใช้ยากาบาเพนติน (Gabapentin)
- มีอาการมึนงง ง่วง อ่อนล้า
- แขนและขาบวม
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้
- ตาพร่ามัว
- อาจทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือตื่นตระหนก หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์โกรธไม่ได้
- มีปัญหาในการนอนหลับ
อาการแพ้ยากาบาเพนติน (Gabapentin) หากมีอาการเหล่านี้ ให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้า ริมฝีปาก และเปลือกตา
- รู้สึกแน่นหน้าอกและหายใจลำบาก
- เป็นลมพิษ มีผื่นแดง เป็นตุ่มพอง หรือผิวหนังหลุดลอก
- ปัสสาวะน้อยหรือปัสสาวะแล้วมีเลือดปน
- อาเจียนเป็นเลือด
- ต่อมน้ำเหลืองบวมที่บริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ
- มีอาการของโรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง

ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับยา Gabapentin
ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับ Gabapentin คือยาออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและทำให้ง่วง ซึม ดังนี้
- ยาในกลุ่มโอปิออยด์ เช่น Codeine, Hydrocodone
- ยานอนหลับหรือยารักษาโรควิตกกังวล เช่น Alprazolam, Lorazepam, Zolpidem
- ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น Carisoprodol, Cyclobenzaprine
- ยาต้านแก้แพ้ เช่น Cetirizine, Diphenhydramine
ดังนั้นหากมีการใช้ยาตัวอื่นอยู่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้ง
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาให้ทานทันทีที่นึกได้หากยังไม่ถึงเวลารับประทานยาในครั้งต่อไป แต่ถ้าใกล้ถึงเวลาทานยาในรอบต่อไปแล้ว ให้ทานยารอบต่อไปเป็นปกติ และไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า
หากรับประทานยาเกินขนาดควรทำอย่างไร?
หากรับประทานยากาบาเพนติน (Gabapentin) เกินขนาด ให้คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติให้รีบเข้าไปพบแพทย์ในทันที
การเก็บรักษายา Gabapentin
ควรเก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิมที่ได้รับ และเก็บไว้ในที่แห้ง ไม่โดนความร้อนหรือแสงโดยตรง และเก็บไว้ให้พ่นมือเด็ก
การหยุดยา Gabapentin
ห้ามหยุดรับประทานยา Gabapentin ด้วยตัวเองแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะจะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ช่วยลดขนาดยาลงและหยุดใช้ยาในที่สุด
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยา Gabapentin
1. ยา Gabapentin แก้ปวดฟันได้หรือไม่?
ยา Gabapentin เป็นยาสำหรับแก้โรคลมชักและอาการปวดที่ปลายประสาทจากโรคอื่นๆ หากปวดฟันแนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) แทน เช่น ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซน เพราะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันจากฟันผุหรือปัญหาเหงือกอักเสบได้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
2. ยา Gabapentin บรรเทาอาการวิตกกังวลได้หรือไม่?
ยา Gabapentin มักไม่ใช้รักษาโรควิตกกังวล แต่มีการอ้างถึงฤทธิ์ของกาบาเพนตินในการช่วยระงับอาการวิตกกังวลที่เกิดจากโรคซึมเศร้าและโรคไบโพลาร์อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม การใช้ยากาบาเพนตินนอกข้อบ่งใช้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
3. ยา Gabapentin ช่วยเรื่องการนอนหลับได้หรือไม่?
ยา Gabapentin มีผลข้างเคียงคือทำให้ง่วงนอน แต่ไม่แนะนำให้ใช้เป็นยานอนหลับ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดเรื่องสุขภาพอย่างปัญหาตับและไต เพราะจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีที่จะได้รับ
4. ยากาบาเพนตินใช้รักษาอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นได้หรือไม่?
ยากาบาเพนดินเป็นยาในกลุ่มยาลดอาการปวดจากเส้นประสาท จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ โดยช่วยลดการส่งสัญญาณความปวดจากเส้นประสาทที่โดนกดทับ
5. ยากาบาเพนตินแก้อะไร?
ยากาบาเพนตินใช้สำหรับรักษาอาการชักแบบเฉพาะที่ (Partial Seizure) อาการปวดตามเส้นประสาท เช่น โรคงูสวัด โรคมะเร็ง กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Leg Syndrome)
6. Gabapentin 300 mg คือยาอะไร?
ยากาบาเพนติน คือยาป้องกันอาการชักและรักษาอาการปลายประสาทอักเสบ ส่วน 300 mg คือขนาดยา 300 มิลลิกรัม โดยตัวยามีในรูปแบบแคปซูลและเม็ด ขนาดตั้งแต่ 100 – 800 มิลลิกรัม
7. Vultin 100 คือยาอะไร?
Vultin (วัลทิน) เป็นชื่อทางการค้าหนึ่งของยา Gabapentin มีในรูปแบบแคปซูลขนาด 100 mg, 300 mg และ 400 mg และแบบเม็ดขนาด 600 mg และ 800 mg
- แหล่งข้อมูล
- Cagliostro, D. (2021). Gabapentin for Anxiety, Depression, and Bipolar Disorder. https://www.psycom.net/depression.central.gabapentin.html
- Durbin, K. (2021). Gabapentin. https://www.drugs.com/gabapentin.html
- Gabapentin. (n.d.). https://www.webmd.com/drugs/2/drug-14208-8217/gabapentin-oral/gabapentin-oral/details
- คลังข้อมูลยา. (2017). Gabapentin กับความเสี่ยงต่อภาวะกดการหายใจอย่างรุนแรง. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1431