Overview:
- ยา Ibuprofen เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มีฤทธิ์ในการบรรเทาปวด ลดการอักเสบ และลดไข้
- ยาในกลุ่มเอ็นเสดเป็นยาที่มีผลไม่พึงประสงค์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจไม่มีอาการเตือนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- หากจำเป็นต้องใช้ยาไอบูโพรเฟน ควรใช้ในขนาดต่ำที่สุดเท่าที่ยังรักษาได้ผล และใช้ยาเป็นเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยา
Ibuprofen คือยาอะไร? | ข้อห้ามใช้ | ข้อควรระวัง | วิธีใช้ยา | ผลข้างเคียง | ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน | ลืมรับประทานยา | รับประทานยาเกินขนาด | การเก็บรักษา | คำถามที่พบบ่อย
Ibuprofen (ไอบูโพรเฟน) คือยาอะไร?
สรรพคุณและกลไกการออกฤทธิ์
ยา Ibuprofen (อ่านว่า ‘ไอ-บิว-โพร-เฟน’ ในประเทศไทยนิยมอ่าน ‘ไอ-บู-โพร-เฟน’) เป็นหนึ่งในยาแก้ปวด (Painkiller) ที่นิยมใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชื่อ “ยาแก้ปวดเม็ดสีชมพู” นอกจากจะใช้แก้ปวดลดไข้ทั่วๆ ไปได้แล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการปวดได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดประจำเดือน ปวดฟัน ไปจนถึงปวดไมเกรน และยังสามารถใช้รักษาอาการเส้นเอ็นบาดเจ็บหรืออักเสบ ข้อเท้าแพลง รวมทั้งบรรเทาอาการโรคข้ออักเสบ (Arthritis) ได้อีกด้วย โดยสามารถใช้ยาได้ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
ยาไอบูโพรเฟนเป็นยาในกลุ่มเอ็นเสด (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drug; NSAIDs) หรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ มีฤทธิ์ในการลดอาการอักเสบและบรรเทาความเจ็บปวด โดยตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ชื่อว่า ‘ไซโคลออกซิจิเนส’ (Cyclooxygenase; COX) ไม่ให้สามารถไปจับกับ ‘กรดอะราคิโดนิก’ (Arachidonic Acid) ได้ จึงช่วยลดการสร้างพรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารที่เป็นตัวกลางให้เกิดอาการอักเสบและอาการปวดลง
เอนไซม์ Cyclooxygenase หรือ COX ที่ถูกยาไอบูโพรเฟนเข้าไปยับยั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ COX-1 และ COX-2 โดยตัวการที่สร้างพรอสตาแกลนดินส์ที่ก่อให้เกิดอาการปวด อักเสบ และมีไข้คือ COX-2 ในขณะที่ COX-1 นั้นจะทำหน้าที่สร้างพรอสตาแกลนดินส์ที่ช่วยปกป้องผนังกระเพาะอาหารและช่วยทำให้เกล็ดเลือดเกาะกลุ่มกัน แต่การออกฤทธิ์ของไอบูโพรเฟนนั้นเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ทั้ง 2 ตัว และยังชอบไปจับกับ COX-1 มากกว่า COX-2 อีกด้วย ยาไอบูโพรเฟนจึงจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า Non-Selective NSAIDs ซึ่งเป็นเอ็นเสดกลุ่มที่มีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้ และการทำงานของเกล็ดเลือด

ชื่อทางการค้าของยา Ibuprofen ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
แอมบูเฟน (Ambufen), บรูพริน (Bruprin), บรูซอฟต์ (Brusoft), บูเฟล็กซ์ (Buflex), ซีเฟน (Cefen), โคโปรเฟน (Coprofen), ดูแรน (Duran), ฟาเฟน ฟอร์ท (Fafen Forte), โกเฟน (Gofen), เฮดี (Heidi), ไอโบรเฟน (Ibrofen), ไอบูแมน (Ibuman), ไอบูตามอล (Ibutamol), นูโรเฟน (Nurofen), โปรบูเฟน (Probufen), รูมาน็อกซ์ (Rheumanox), โซลูเฟน (Solufen)
*เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น
ประเภทของยา
Ibuprofen เป็นยาในกลุ่ม Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs) มีทั้งแบบที่หาซื้อได้เอง (OTC: Over The Counter) และแบบที่เป็นยาตามใบสั่งแพทย์
รูปแบบของยา
- ยาสำหรับประทานในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผง ยาแขวนตะกอน ยาน้ำเชื่อม
- ยาทาในรูปแบบเจล ครีม น้ำ และแบบแผ่นแปะ
- ยาพ่น
ยา Ibuprofen ราคาเท่าไหร่?
ราคากลางของยาไอบูโพรเฟนมีดังต่อไปนี้
- ยาเม็ด ขนาด 200 mg ราคาเม็ดละ 0.60 บาท
- ยาเม็ด ขนาด 400 mg ราคาเม็ดละ 0.80 บาท
- ยาน้ำแขวนตะกอน ขนาด 100 mg/5 ml (60 ml) ราคาขวดละ 15 บาท
⚠ยา Ibuprofen กับความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
มีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งรวมถึงยา Ibuprofen นั้น มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases) เช่น อาการหัวใจวาย (Heart Attack) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) มากกว่าผู้ที่ไม่เคยใช้ยาในกลุ่มนี้ อาการดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ และอาจมีอันตรายถึงชีวิต โดยความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นอีกในกลุ่มผู้ที่ใช้ยา NSAIDs ต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน
ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDs โดยเด็ดขาดหากคุณเคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจวายมาก่อน (เว้นแต่แพทย์ได้พิจารณาแล้วว่าสามารถใช้ได้) และห้ามใช้ยานี้ก่อนหรือหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจบายพาส (CABG-Coronary Artery Bypass Grafting)
นอกจากนี้ Ibuprofen ยังอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือทางเดินอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยอาการลักษณะนี้มักเกิดในผู้สูงอายุและมักไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า
อย่าใช้ยา Ibuprofen โดยไม่จำเป็น และห้ามใช้เกินกว่าปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำโดยเด็ดขาด หากต้องการรับประทานยาเพื่อแก้ปวดลดไข้จากไข้หวัดทั่วไปหรือไข้หวัดใหญ่ ควรเลือกใช้ยาพาราเซตามอลที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าแทน

ข้อห้ามใช้
- ห้ามใช้ยาในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน และยาอื่นๆ ในกลุ่มเอ็นเสด
- ห้ามใช้ยานี้ก่อนหรือหลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
- ห้ามใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไตอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออก
ข้อควรระวังก่อนใช้ยา
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากเคยมีประวัติแพ้ยาไอบูโพรเฟน ยาแอสไพริน หรือยาอื่นๆ ในกลุ่ม NSAIDs เช่น คีโทโพรเฟน (Ketoprofen), นาพรอกเซน (Naproxen) รวมถึงประวัติการแพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ในยาเหล่านี้
- ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไต โรคกระเพาะอาหาร โรคหอบหืด โรคโลหิตจาง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ผู้ที่มีติ่งเนื้องอกในจมูก ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้สูงอายุ ไม่ควรใช้ยา Ibuprofen เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าผู้อื่น หากมีความจำเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบรายการยา อาหารเสริม และสมุนไพรทุกตัวที่กำลังรับประทานอยู่ เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีตัวยาไหนที่ไม่ควรใช้ร่วมกับ Ibuprofen
- ยาไอบูโพรเฟนอาจทำให้เกิดแผล หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร และอาจรุนแรงถึงขั้นทางเดินอาหารทะลุ ควรรับประทานยาทันทีหลังอาหาร หรือรับประทานพร้อมกับอาหาร นม หรือยาลดกรด
- ยาไอบูโพรเฟนเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคในกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- ห้ามใช้ยาไอบูโพรเฟนร่วมกับยาแก้ปวดอื่นๆ เว้นแต่จะเป็นคำสั่งจากแพทย์
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัดใดๆ ก็ตาม ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดด้านทันตกรรม เช่น การผ่าฟันคุด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่าใช้ยา Ibuprofen อยู่
- หากใช้ยาแล้วเกิดผื่นแดง หรือมีอาการคล้ายเป็นหวัด ให้หยุดยาทันที
- หากใช้ยาแล้วมีไข้ เกิดผื่นแดง ตุ่มน้ำพอง มีการหลุดลอกของผิวหนังบริเวณช่องปาก ลำคอ จมูก อวัยวะเพศ และมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ให้หยุดยาและไปพบแพทย์ทันที อาจเป็นอาการของโรค Stevens Johnson Syndrome
- สตรีมีครรภ์และสตรีที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา สตรีมีครรภ์ไตรมาสสุดท้ายไม่ควรใช้ยานี้โดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นคำสั่งแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาไอบูโพรเฟนในช่วง 20 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติที่ระบบหัวใจหรือไตได้ นอกจากนี้ฤทธิ์ยาอาจยับยั้งการบีบตัวของมดลูก อาจทำให้คลอดช้ากว่ากำหนด
- ห้ามใช้ยา Ibuprofen ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน เว้นแต่เป็นคำสั่งแพทย์

บทความอื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ
• PONSTAN® (พอนสแตน) คือยาอะไร? วิธีกิน ผลข้างเคียง และข้อควรระวัง
• Chlorpheniramine (คลอเฟนิรามีน) คือยาอะไร? วิธีใช้ ผลข้างเคียง และข้อควรระวัง
• Tretinoin (เตรทติโนอิน) คือยาอะไร? วิธีใช้ ผลข้างเคียง ข้อควรระวัง
• Alprazolam (อัลปราโซแลม) คืออะไร? วิธีใช้ ผลข้างเคียง และข้อควรระวัง
• Clonazepam (โคลนาซีแพม) คือยาอะไร? วิธีใช้ ผลข้างเคียง และข้อควรระวัง
• Gabapentin (กาบาเพนติน) คือยาอะไร? วิธีใช้ ผลข้างเคียง และข้อควรระวัง
วิธีใช้ยา
ยาไอบูโพรเฟนเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานอย่างพร่ำเพรื่อ ควรรับประทานยาในปริมาณที่น้อยที่สุดที่ยังสามารถบรรเทาอาการได้ และใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด โดยไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 10 วัน เว้นแต่แพทย์สั่ง รวมถึงห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
1. ใช้รักษาอาการปวดฟัน ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ อาการปวดเนื่องจากเป็นไข้
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 200 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง หากอาการปวดไม่บรรเทาลง อาจเพิ่มขนาดเป็น 400 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานเกิน 1,200 มก./วัน
- เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี: รับประทานขนาด 5-10 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. ทุก 6-8 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
2. ใช้รักษาอาการปวดประจำเดือน
รับประทานครั้งละ 200 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง หากอาการปวดไม่บรรเทาลง อาจเพิ่มขนาดเป็น 400 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานเกิน 1,200 มก./วัน
3. ใช้รักษาอาการไข้
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 200-400 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง และไม่เกิน 1,200 มก./วัน
- เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี: รับประทานขนาด 5-10 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. ทุก 6-8 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุดไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
4. ใช้รักษาอาการปวดไมเกรนเฉียบพลัน
รับประทานครั้งละ 200-400 มก. เมื่อเริ่มมีอาการปวด ไม่ควรใช้ยาเกิน 400 มก./วัน
5. ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคข้อเสื่อม
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 400-800 มก. วันละ 3-4 ครั้ง ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 3,200 มก. ต่อวัน
- เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี: รับประทานครั้งละ 30-40 มก./น้ำหนักตัว 1 กก./วัน โดยแบ่งให้ 3-4 ครั้ง/วัน ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 50 มก./น้ำหนักตัว 1 กก./วัน
ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา
ผลข้างเคียงทั่วไป (พบได้ 1-10%)
- มึนงง
- ปวดศีรษะ
- วิงเวียนศีรษะ
- กระสับกระส่าย
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
ผลข้างเคียงที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที (พบได้น้อยกว่า 1%)
- ตามัว เห็นภาพซ้อน ปวดเบ้าตาหรือรอบเบ้าตา การมองเห็นเปลี่ยนไป หรือแพ้แสง
- หูอื้อ การได้ยินลดลง
- ถ่ายเป็นเลือดหรืออาเจียนเป็นเลือด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
- ผิวห้อเลือด มีจ้ำเขียว ซึ่งอาจเกิดจากอาการโลหิตจาง
- ข้อเท้าบวม ปัสสาวะมีเลือดปนหรือไม่ปัสสาวะเลย ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าไตกำลังมีปัญหา
- เจ็บหน้าอกหรือปวดท้องมาก เป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีแผลทะลุในช่องท้อง
- ตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของอาการตับอักเสบ
- อาการหายใจลำบาก หรือมีอาการหอบหืดอย่างรุนแรง
อาการแพ้ยา Ibuprofen ที่รุนแรง ควรไปพบแพทย์ทันที
- มีผืนแดงบนผิวหนัง ซึ่งอาจมีอาการคัน บวม เป็นตุ่มน้ำ ลมพิษ จ้ำเขียว หรือผิวหนังหลุดลอก
- หายใจเป็นเสียงหวีด
- รู้สึกแน่นหน้าอกหรือคอ
- หายใจลำบาก พูดไม่ชัด
- ริมฝีปาก ใบหน้า ลิ้น หรือลำคอ มีอาการบวม
ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน
- ยาต้านเศร้า (Antidepressant) การรับประทานยาต้านเศร้าร่วมกับยาในกลุ่ม NSAIDs อาจทำให้เกิดรอยจ้ำเลือดบนผิวหนัง รวมถึงเกิดอาการเลือดออกได้ง่าย
- ยาลดความดันโลหิต ไอบูโพรเฟนอาจทำให้ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เช่น พราโซซิน (Prazosin) แคปโตพริล (Captopril) ลิซิโนพริล (Lisinopril ) ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- ยาขับปัสสาวะ กลไกการยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินส์ของไอบูโพรเฟนอาจมีผลให้ร่างกายลดการขับปัสสาวะและโซเดียมลง ทำให้ยาขับปัสสาวะไม่มีผลเท่าที่ควร
- ยา NSAIDs อื่นๆ และยาคอร์ติสเตียรอยด์ (Corticosteroid) หากใช้ร่วมกันกับไอบูโพรเฟนอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารมากขึ้น
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เมื่อรับประทานคู่กับไอบูโพรเฟนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเลือดออกได้
- เมโธเทรกเซท (Methotrexate) มีการพบว่าไอบูโพรเฟนลดการขับถ่ายทางไตของยาเมโธเทรกเซท และเพิ่มความเป็นพิษของยาดังกล่าว
- แอสไพริน (Aspirin) ปกติแล้วแอสไพรินมีฤทธิ์ที่ช่วยปกป้องระบบหัวใจและหลอดเลือด การให้ยาไอบูโพรเฟนที่มีฤทธิ์ยับยั้ง COX-1 จะทำให้ฤทธิ์ของแอสไพรินด้อยลง และยังเพิ่มผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารอีกด้วย
- ลิเทียม (Lithium) ไอบูโพรเฟนทำให้ลิเทียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นและขับถ่ายทางไตได้น้อยลง อาจทำให้เกิดพิษจากลิเทียมได้ จึงควรมีการวัดระดับลิเทียมในเลือดอย่างใกล้ชิด
- ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) การใช้ยากลุ่มเอ็นเสดร่วมกับ Cyclosporine อาจทำให้เกิดพิษต่อไต จึงควรมีการตรวจการทำงานของไตหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน
- ยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) อาจถูกขับออกทางไตได้น้อยลงเมื่อใช้คู่กับยากลุ่มเอ็นเสด
- แวนโคมัยซิน (Vancomycin) อาจถูกขับออกทางไตได้น้อยลงเมื่อใช้คู่กับยากลุ่มเอ็นเสด
- โพรเบนีซิด (Probenecid) ยาโพรเบนีซิดอาจทำให้ไอบูโพรเฟนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จึงควรให้ยาไอบูโพรเฟนขนาดต่ำๆ และระวังเรื่องขนาดยาเป็นพิเศษ
- ยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน (Quinolone) อาจทำให้เกิดอาการชักได้เมื่อใช้ร่วมกับยาไอบูโพนเฟน
- ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) อาจทำให้ผลข้างเคียงจากยากลุ่มบิสฟอสโฟเนตเพิ่มขึ้น และผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น
- ยากลุ่มคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ควรให้ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ยากลุ่มคอเลสไทรามีนลดการดูดซึมยาไอบูโพรเฟน

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
Ibuprofen เป็นยาที่ใช้รักษาเมื่อมีอาการ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอย่างเป็นเวลาชัดเจนแบบยาที่ต้องรับประทานต่อเนื่อง แต่หากมีความจำเป็นต้องรับประทานยาไอบูโพรเฟนอย่างต่อเนื่องแล้วลืมรับประทาน ให้ข้ามรอบที่ลืมรับประทานไป แล้วรับประทานโดสถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
หากรับประทานยาเกินขนาดควรทำอย่างไร?
ความรุนแรงของการได้รับยาไอบูโพรเฟนเกินขนาดขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่รับเข้าไป โดยปกติแล้วผู้ใหญ่และเด็กที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปไม่ควรได้รับยา Ibuprofen เกิน 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรได้รับยาเกิน 800 มิลลิกรัมในการรับประทานครั้งเดียว หากปริมาณยาที่ได้รับไม่เกินไปกว่านี้ และไม่ได้มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น เบื้องต้นอาจจะสังเกตอาการตนเองที่บ้านก่อน
อาการหลังจากรับประทานยาเกินขนาดมักเกิดขึ้นภายใน 4 ชั่วโมงหลังจากได้รับยา โดยอาการที่พบได้บ่อยคือปวดศีรษะ วิงเวียน หากรับประทานยาในปริมาณมาก อาจเกิดอาการในระดับที่รุนแรงขึ้นคือ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการเซื่องซึม ความดันโลหิตต่ำ มีเสียงอื้อในหู ชัก หัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ และอาจนำไปสู่อาการระดับอันตรายถึงชีวิตคือ เกิดภาวะเลือดเป็นกรด โคม่า ไตวายเฉียบพลัน ภาวะหายใจล้มเหลว ซึ่งพบได้ราว 1% ของผู้ป่วยทั้งหมด
สำหรับการรักษาการได้รับยา Ibuprofen เกินขนาด แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยอาจมีการทำให้อาเจียนด้วย Ipecac Syrup หรือล้างท้องภายใน 30-60 นาทีหลังจากได้รับยาเพื่อลดการดูดซึมยา นอกจากนี้แพทย์อาจให้ Activated Charcoal เพื่อช่วยลดการดูดซึมยา หรือเพิ่มการขับปัสสาวะโดยการให้สารด่างเนื่องจากไอบูโพรเฟนมีฤทธิ์เป็นกรด และอาจมีการให้ยา Diazepam ทางหลอดเลือดดำหากผู้ป่วยมีอาการชักบ่อยๆ
การเก็บรักษา
สำหรับยาเม็ด ยาทา ยาพ่น
- เก็บในบรรจุภัณฑ์เดิม สำหรับยาทา/ยาพ่นควรปิดฝาบรรจุภัณฑ์ให้สนิท
- เก็บในอุณหภูมิห้อง ไม่ให้โดนแสงแดดโดยตรง และไม่เก็บไว้ในที่ชื้น
- เก็บให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ตรวจสอบวันหมดอายุของยาอย่างสม่ำเสมอ หากยาหมดอายุแล้วควรห่อในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิทและทิ้งถังขยะสำหรับขยะอันตราย ห้ามเททิ้งในท่อระบายน้ำเสียหรือชักโครก
สำหรับยาน้ำ
- โดยมากแล้วยาจะอยู่ได้ 6 เดือนหลังจากเปิดขวด ไม่ควรใช้ยาที่เก็บไว้นานเกินกว่านั้นหรือหมดอายุแล้ว
- เก็บให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยา Ibuprofen
1. ไอบูโพรเฟนแก้ปวดไมเกรนได้ไหม?
ยาไอบูโพรเฟนสามารถใช้แก้ปวดไมเกรนได้ โดยปริมาณที่แนะนำคือครั้งละ 200-400 มก. เมื่อเริ่มมีอาการปวด และไม่ควรใช้ยาเกิน 400 มก./วัน
2. ไอบูโพรเฟนแก้ปวดฟันได้ไหม?
ยาไอบูโพรเฟนสามารถใช้แก้ปวดฟันได้ โดยปริมาณที่แนะนำคือครั้งละ 200 มก. ทุก 4-6 ชั่วโมง หากไม่ดีขึ้นอาจเพิ่มขนาดเป็น 400 มก. ได้ แต่ไม่ควรเกิน 1,200 มก./วัน
สำหรับเด็กให้รับประทานตามน้ำหนักตัว โดยให้ยาขนาด 5-10 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. ทุก 6-8 ชั่วโมง ไม่เกินวันละ 4 ครั้ง
3. ยาแก้ปวดเม็ดสีชมพูอันตรายไหม?
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า จริงๆ แล้วปัจจุบันนี้ยาไอบูโพรเฟนมีหลากหลายสีสันตามแต่ยี่ห้อ ไม่ได้มีเพียงสีชมพูเท่านั้น
ไอบูโพรเฟนและยาอื่นๆ ในกลุ่ม NSAIDs อาจเป็นอันตรายได้หากรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน มีรายงานว่าผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสดจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งตัวยายังมีผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารค่อนข้างมากอีกด้วย ทั้งนี้ หากรับประทานอย่างระมัดระวัง ใช้ยาในปริมาณน้อยและในระยะเวลาไม่นาน รวมถึงปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลมากเป็นพิเศษ
4. Solufen 400 คือยาอะไร?
Solufen หรือโซลูเฟน เป็นชื่อทางการค้าหนึ่งของยาไอบูโพรเฟน ตัวเลข 400 คือขนาดยา 400 มิลลิกรัม
5. Nurofen 400 คือยาอะไร? อันตรายไหม?
Nurofen หรือนูโรเฟน เป็นชื่อทางการค้าหนึ่งของยาไอบูโพรเฟน ตัวเลข 400 คือขนาดยา 400 มิลลิกรัม ยาไอบูโพรเฟนและยาอื่นๆ ในกลุ่ม NSAIDs อาจเป็นอันตรายได้หากรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ควรใช้ยาในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่ยังเห็นผลและในระยะสั้นที่สุด รวมถึงปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
6. ยาไอบูโพรเฟนหยุดประจําเดือนได้จริงหรือ? ทำไมกินยาไอบูโพรเฟนแล้วประจำเดือนไม่มาสักที?
ยาไอบูโพรเฟนสามารถทำให้ประจำเดือนเลื่อนหรือมาช้ากว่าปกติได้จริง เนื่องจากยาไปยับยั้งการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ซึ่งเป็นสารตัวกลางที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด อาการอักเสบ และอาการอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการหดรัดตัวของมดลูก และการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกด้วย ด้วยเหตุนี้ประจำเดือนจึงมาช้ากว่าเดิม โดยทั่วไปประจำเดือนควรจะมาช้ากว่าปกติเพียง 2-3 วัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะช้ากว่านี้ในบางราย และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ประจำเดือนในรอบเดือนนั้นจะมีปริมาณน้อยลง
แม้ยา Ibuprofen จะมีฤทธิ์แบบอ้อมๆ ในการช่วยเลื่อนประจำเดือน แต่หากต้องการเลื่อนประจำเดือนจริงๆ ควรเลือกใช้ ‘ยาเลื่อนประจำเดือน’ ซึ่งเป็นวิธีที่เห็นผลแน่นอนกว่ามาก
7. ไอบูโพรเฟนห้ามใช้ลดไข้ในผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 จริงไหม?
ปัจจุบันไม่มีหลักฐานว่ายาไอบูโพรเฟนทำให้อาการของโรคติดเชื้อ COVID-19 แย่ลง เพราะฉะนั้นจึงสามารถใช้ยานี้ลดไข้ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่อาจลองพิจารณาใช้ยาพาราเซตามอลแทน เพราะเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการลดไข้เช่นเดียวกันแต่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อยกว่า Ibuprofen มาก
8. แพ้ยาไอบูโพรเฟนควรใช้ยาอะไรแทน?
หากมีอาการแพ้ยาไอบูโพรเฟนก็เป็นไปได้สูงว่าจะแพ้ยาอื่นๆ ในกลุ่ม NSAIDs ด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรใช้ยา Acetaminophen หรือพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเอ็นเสด และเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาอาการปวดทั่วไปและลดไข้
9. ibuprofen 400 mg ออกฤทธิ์กี่ชั่วโมง?
โดยทั่วไปยาจะออกฤทธิ์ประมาณ 4-6 ชั่วโมง และจะถูกขับออกจากร่างกายภายใน 24 ชั่วโมง
10. ไอบูโพรเฟนกินแล้วง่วงไหม?
ยา Ibuprofen ไม่ทำให้ง่วง และไม่มีผลต่อความสามารถในการขับขี่และการทำงานกับเครื่องจักร
11. ยาไอบูโพรเฟนมีขายในเซเว่น หรือร้านสะดวกซื้ออื่นๆ ไหม?
ยาไอบูโพรเฟนไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน จึงไม่มีจำหน่ายทั่วไปในร้านสะดวกซื้อแบบพาราเซตามอล ทั้งนี้ ร้านสะดวกซื้อบางแห่งอาจมีร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำด้วย ซึ่งในกรณีนี้น่าจะมียาไอบูโพรเฟนจำหน่าย
12. คนท้องกินยาไอบูโพรเฟนได้ไหม?
สตรีมีครรภ์ 2 ไตรมาสแรกควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูโพรเฟน เว้นแต่แพทย์เป็นผู้สั่งยาให้ แต่สำหรับสตรีมีครรภ์ไตรมาสสุดท้ายนั้นไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟนโดยเด็ดขาด เนื่องจากพบว่ายามีผลให้ระบบหัวใจและไตของทารกผิดปกติ และยังอาจไปยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ซึ่งทำให้คลอดช้ากว่ากำหนดได้
13. ยา Ibuprofen ต้องกินก่อนหรือหลังอาหาร?
ควรรับประทานยาไอบูโพรเฟนหลังอาหารทันที หรือรับประทานพร้อมอาหาร นม หรือยาลดกรด เนื่องจากตัวยาอาจทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหารได้ ไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง
14. กินไอบูโพรเฟนกับพาราได้ไหม?
ยาไอบูโพรเฟนและพาราเซตามอลสามารถรับประทานด้วยกันได้ โดยพบว่าให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ปวด นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้ทั้งพาราเซตามอลและไอบูโพรเฟนเป็นส่วนประกอบด้วย ใช้ชื่อทางการค้าว่า ‘ไอบูตามอล’ (Ibutamol)
15. ยาฟาเฟนฟอร์ทแก้อะไร?
ฟาเฟน ฟอร์ท (Fafen Forte) เป็นชื่อทางการค้าหนึ่งของยาไอบูโพรเฟน มีสรรพคุณแก้ปวด ลดไข้ ลดอาการอักเสบ
16. Ibuprofen 400 mg สีชมพู แก้อะไร?
Ibuprofen เป็นยารักษาอาการอักเสบ ปวด บวมของกระดูกและกล้ามเนื้อ และช่วยลดไข้ โดยยา Ibuprofen มีหลายยี่ห้อที่วางจำหน่ายในลักษณะเม็ดกลมสีชมพู จึงมักเป็นที่รู้จักในชื่อยาแก้ปวดเม็ดสีชมพู
17. Ibuprofen 600 คืออะไร?
600 คือขนาดยา Ibuprofen 600 มิลลิกรัม เป็นขนาดสูงสุดต่อยา 1 เม็ด โดยขนาดต่ำสุดคือ 200 มิลลิกรัม ทั้งนี้ ปริมาณแนะนำสำหรับรักษาอาการปวดหัว ปวดฟัน ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ข้อต่ออักเสบ และอาการบาดเจ็บเล็กน้อยอยู่ที่ 400 มิลลิกรัมต่อครั้ง การใช้ยาในปริมาณที่สูงกว่านี้ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนทุกครั้งเนื่องจากการกินยาไอบูโพรเฟนในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานานมีความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
18. Ibuprofen 400 mg รักษาอะไร?
Ibuprofen เป็นยารักษาอาการอักเสบ ปวด บวมของกระดูกและกล้ามเนื้อ และช่วยลดไข้ ชนิดเม็ดมีขนาด 200 mg, 400 mg, และ 600 mg
- แหล่งข้อมูล
- Brazier, Y 2021, What to know about ibuprofen, Healthline Media, Accessed 24 October 2021, https://www.medicalnewstoday.com/articles/161071.
- Cafasso, J 2018, Is It Possible to Overdose on Ibuprofen?, Healthline Media, Accessed 24 October 2021, https://www.healthline.com/health/can-you-overdose-on-ibuprofen.
- Caporuscio, J 2020, How much ibuprofen is too much?, Healthline Media, Accessed 24 October 2021, https://www.medicalnewstoday.com/articles/325180.
- Drugs.com 2021, Ibuprofen, Drugsite Limited, Accessed 24 October 2021, https://www.drugs.com/ibuprofen.html.
- Medlineplus.gov 2021, Ibuprofen, U.S. National Library of Medicine, Accessed 24 October 2021, https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682159.html.
- NHS 2018, Ibuprofen for adults (including Nurofen), United Kingdom National Health Service, Accessed 24 October 2021, https://www.nhs.uk/medicines/ibuprofen-for-adults/
- กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค n.d., ระวัง กินยาแก้ปวดไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ระหว่างตั้งครรภ์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, Accessed 24 October 2021, http://pca.fda.moph.go.th/public_media_detail.php?id=6&cat=73&content_id=1956.
- นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ 2020, ยาเอ็นเสด (NSAIDs) กับโควิด-19, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Accessed 24 October 2021, https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/503/เอ็นเสด(NSAIDs)กับโควิด-19/.
- นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ 2019, ยาแก้ปวดข้อ ข้ออักเสบ-กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Accessed 24 October 2021, https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/472/ปวดข้อกับยาเอ็นเสด(NSAIDs)/.