Overview
- ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) มักใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคหัวใจขาดเลือด โรคไทรอยด์เป็นพิษ ไมเกรน และผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล
- ผู้ป่วยเพศชายที่ใช้ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) อาจมีผลข้างเคียงทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมได้
- ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) จะมีฤทธิ์ตรงข้ามกับยาในกลุ่มกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก และยาที่ใช้รักษาโรคหืดทุกชนิด จึงไม่ควรใช้ร่วมกัน
ยา Propranolol คืออะไร? | ข้อควรระวัง | วิธีใช้ยา | ผลข้างเคียง | ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกัน | ลืมรับประทาน | รับประทานยาเกินขนาด | การเก็บรักษา | คำถามพบบ่อย
ยา Propranolol คืออะไร?
สรรพคุณและกลไกการออกฤทธิ์
ยา Propranolol (อ่านว่า โพร-พรา-โน-ลอล) อยู่ในกลุ่มยา Beta-blocker เป็นยาที่ใช้ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) โดยออกฤทธิ์รวมเข้ากับบีตา อดรีเนอร์จิก รีเซฟเตอร์ (Beta Adrenergic Receptors) ที่อยู่ตามเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ภายในร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดลง และลดปริมาณเลือดออกจากหัวใจลง ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไมเกรน บรรเทาอาการหัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่นที่เกิดจากภาวะไทรอยด์เกิน
ในด้านกลไกการออกฤทธิ์ ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) จะทำหน้าที่ปิดกั้นการออกฤทธิ์ของสารแคททีโคลามีน (Catecholamines) ที่มีผลต่อบีตาอดรีเนอร์จิกรีเซฟเตอร์ (Beta Adrenergic Receptors) ที่อยู่ตามเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น หัวใจ หลอดเลือด หลอดลม มดลูก
โดยจะออกฤทธิ์ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง การบีบตัวของหัวใจลดลง เส้นเลือดส่วนปลายขยายตัวลดลง และหลอดลมหดตัว ซึ่งมักใช้ยาชนิดนี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคหัวใจขาดเลือด โรคไทรอยด์เป็นพิษ ไมเกรน รวมถึงผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลร่วมด้วย

ชื่อทางการค้าของยา Propranolol ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
ยาโพรพาโนลอล (Propranolol) เป็นที่รู้จักในปี ค.ศ. 1965 จากการคิดค้นของ James Whyte Black แพทย์ชาวสก็อต จนถูกวางจำหน่ายและพัฒนาออกไปทั่วโลก โดยในประเทศไทยใช้ชื่อเรียกสามัญว่า โพรพราโนลอล และมีชื่อเรียกทางการค้าว่า อินเดอราล (Inderal) เพอร์ลอล (Perlol) โพรลอล (Prolol)
ประเภทของยา
ยา Propranolol เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ อยู่ในกลุ่มยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta-blocker)
รูปแบบของยา
ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) มีทั้งรูปแบบรับประทาน เช่น ยาเม็ด ยาน้ำ และรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือด
ยา Propranolol ราคาเท่าไหร่?
อ้างอิงจากราคากลาง ยาโพรพาโนลอล (Propranolol) ปริมาณ 10 มิลลิกรัม ขายที่ราคา 1 บาท และปริมาณ 40 มิลลิกรัม ขายที่ราคา 1.5 บาท
ข้อควรระวังก่อนใช้ยา Propranolol
ข้อควรรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ที่ต้องใช้ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) มีดังนี้
- ผู้ที่สามารถใช้ยา Propranolol ได้ คือ ผู้ที่ไม่เคยแพ้ยาประเภทนี้ หรือมีส่วนประกอบของยาชนิดนี้อย่างรุนแรงมาก่อน
- ผู้ที่ไม่ควรใช้ยา Propranolol คือ
- ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับการแพ้ยากลุ่มนี้
- ผู้ป่วยเป็นโรคหืด หรือโรคปอดอื่นๆ
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ผู้มีภาวะหัวใจวายเฉีบพลัน
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรง
- ผู้ป่วยโรคเรเนาด์
- ผู้ป่วยภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic Acidosis)
วิธีใช้ยา Propranolol
เนื่องจากยาโพรพราโนลอล (Propranolol) เป็นยาที่ออกตามใบสั่งแพทย์ ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ก่อนใช้ โดยทั่วไปแพทย์จะเริ่มให้ใช้ในปริมาณที่ต่ำก่อน และจะเพิ่มปริมาณให้ในผู้ที่ใช้ไม่ได้ผล ดังนี้
- โรคความดันโลหิต มักเริ่มให้ในปริมาณ 40 – 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ถ้าหากใช้ไม่ได้ผล แพทย์จะปรับปริมาณยาเพิ่มให้ขนาดปกติ 160-320 มิลลิกรัมต่อวัน สูงสุดได้ไม่เกิน 640 มิลลิกรัมต่อวัน
- ป้องกันไมเกรน มักเริ่มให้ในปริมาณ 20 มิลลิกรัม และเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม และต้องแบ่งใช้วันละ 3-4 ครั้ง
- บรรเทาอาการทางกาย (มือสั่น, ใจสั่น, วิตกกังวล) มักเริ่มให้ในปริมาณ 10 มิลลิกรัม และเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 40 มิลลิกรัม และต้องแบ่งใช้วันละ 2-3 ครั้ง
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน มักเริ่มให้ในปริมาณ 40 มิลลิกรัม แบ่งใช้วันละ 4 ครั้ง ใช้ติดต่อกัน 2 – 3 วัน ถ้าหากใช้ไม่ได้ผลแพทย์จะปรับปริมาณยาเพิ่มให้สูงสุดไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อวัน และต้องใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 5-21 วันจนกว่าอาการจะทุเลาลง
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ มักเริ่มให้ในปริมาณ 10-20 มิลลิกรัม ใช้วันละ 3-4 ครั้ง ถ้าหากใช้ไม่ได้ผล แพทย์จะปรับปริมาณยาเพิ่มให้สูงสุดไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อวัน
ผลข้างเคียงและอาการแพ้ยา Propranolol
ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) อาจมีผลข้างเคียงและอาการแพ้ เช่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ริมฝีปากแห้ง
- รู้สึกเบื่ออาหาร
- ท้องเสีย
- ปวดศีรษะ
- การมองเห็นผิดปกติ
- อ่อนเพลีย
- ผมร่วง
- นอนไม่หลับ
- กระสับกระส่าย
- เหงื่อออก
- ปลายมือปลายเท้าเย็น เหน็บชา
- ผื่นคัน
- ซึมเศร้า
- ในเพศชายอาจทำให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมได้
หากมีอาการชัก เป็นลมหมดสติ หอบ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที
ยาที่ควรระวังเมื่อใช้ร่วมกัน
ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) จะมีฤทธิ์ตรงข้ามกับยาในกลุ่มกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก และยาที่ใช้รักษาโรคหืดทุกชนิด เช่น อะดรีนาลิน ยากระตุ้น Beta 2 ยาเฟนิลโพรพราโนลามีน (Phenylpropanolamine) เฟนิลเอฟรีน (Phenylephrine) สูโดเอฟีดรีน รีเซอร์ฟีน สเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยาต้านแคลเซียม ยาอินซูลิน ฯลฯ
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
ผู้ป่วยต้องรับประทานตรงเวลาและตามขนาดที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ถ้าลืมให้รอรับประทานในครั้งถัดไปแทน และห้ามรับประทานยาเพิ่มเป็นสองเท่า เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเกิดขนาดได้
หากรับประทานยาเกินขนาดควรทำอย่างไร?
หากใช้ยาโพรพาโนลอล (Propranolol) เกิดขนาด ต้องคอยสังเกตอาการว่า มีอาการผิดปกติหรือไม่ หรือหากมีอาการรุนแรง เช่น มีอาการชัก เป็นลมหมดสติ หอบ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที และไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
การเก็บรักษา
ยาชนิดนี้ต้องเก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 20-25 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ร้อนหรือชื้น และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็ก
ตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยา Propranolol
1. Propranolol ช่วยลดอาการวิตกกังวลได้ไหม?
Propranolol สามารถใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวล ใจสั่น มือสั่นได้
2. Propranolol เป็นยาจิตเวชหรือใช้รักษาโรคทางจิตเวชด้วยหรือไม่?
Propranolol เป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคหัวใจขาดเลือด โรคไทรอยด์เป็นพิษ ไมเกรน รวมถึงผู้ที่มีภาวะวิตกกังวลร่วมด้วย
3. Propranolol สามารถซื้อจากร้านขายยาได้หรือไม่?
Propranolol เป็นยาที่ต้องได้รับคำสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถซื้อตามร้านขายยาเองได้
4. Propranolol รักษาอะไรได้บ้าง?
Propranolol ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โรคหัวใจขาดเลือด โรคไทรอยด์เป็นพิษ ไมเกรน ผู้ที่มีภาวะวิตกกังวล ฯลฯ
5. ยา Propranolol อันตรายไหม?
Propranolol เป็นยาที่มีข้อควรระวังในการใช้เป็นอย่างมาก จึงต้องได้รับคำแนะนำโดยแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อลดผลข้างเคียงและอาการแพ้ยาได้
- แหล่งข้อมูล
- กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. (2021). คู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงด้วยการแพทย์ผสมผสาน. http://110.164.147.155/kmhealth_new/Documment/blood/knowlage/6.pdf
- สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. (2021). ข้อมูลยาสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร. http://www.pharmbma.com/drug-list/p/99-propanolol-tablet-10-mg
- วิทยาศาสตร์การปฏิบัติวารสารการแพทย์. (2021). Propranolol. https://th.the-health-site.com/propranolol-303
- สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย. (2021). แนวทางการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติ. http://www.thaihypertension.org/files/GL%20HT%202015.pdf
- สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. (2021). หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. http://phobannasan.go.th/product_images/84-ตำราตรวจโรคหมอสุรเกียรติ์.pdf