Overview
- ยาแก้เจ็บคอที่ดีที่สุด คือยาที่ปลอดภัยและรักษาตรงตามอาการและสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
- ยาแก้อักเสบที่หลายคนเข้าใจว่าช่วยลดอาการเจ็บคอ แท้จริงคือยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อไวรัส
- ยาอมแก้เจ็บคอบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม ภาวะเมทฮีโมโกลบิน หรือเกิดแผลและมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง
ยาแก้เจ็บคอคืออะไร? | ประเภทของยา | รูปแบบของยา | การใช้ยาปฏิชีวนะ | ข้อควรระวัง | ผลข้างเคียง | เทคนิคง่ายๆ ลดอาการเจ็บคอ | คำถามที่พบบ่อย
ยาแก้เจ็บคอคืออะไร?
ยาแก้เจ็บคอ (Sore Throat Medicines) คือ ยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอและระคายเคืองภายในช่องปากและลำคอที่อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงอาการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย อาทิ การใช้เสียงมากเกินไป การเจ็บคอจากฝุ่น ควัน การสูบบุหรี่ การสูดดมสารเคมี รวมถึงการเจ็บคอจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศแห้ง มลพิษในอากาศ และโรคบางอย่าง เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคเนื้องอกในลำคอและกล่องเสียง ฯลฯ ปัจจุบันมียาแก้เจ็บคอหลายประเภทให้เลือกใช้ขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุของการเจ็บคอ
ยาแก้เจ็บคอมีกี่ประเภท?
การรักษาอาการเจ็บคอจะเป็นการรักษาตามอาการและสาเหตุ ดังนั้น ยาแก้เจ็บคอจึงสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทดังนี้

1. ยาแก้ปวด (Pain Relievers)
สำหรับช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้ในกรณีที่เจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ตัวอย่างยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) และยากลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs) ที่เป็นยาแก้อักเสบ เจ็บคอ ซึ่งมีฤทธิ์ลดไข้ ลดบวม แก้อักเสบ เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน (Naproxen)
2. ยาแก้แพ้ (Antihistamines)
สำหรับช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอที่เกิดจากภูมิแพ้ ซึ่งออกฤทธิ์ทำงานโดยการปิดกั้นการปล่อยสารฮีสตามีนในร่างกาย ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิริซีน (Cetirizine)
3. สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
มักผสมอยู่ในสเปรย์พ่นแก้เจ็บคอ น้ำยากลั้วคอ หรือน้ำยาบ้วนปากเพื่อช่วยฆ่าเชื้อที่อยู่บริเวณลำคอและช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ เช่น ฟีนอล (Phenol) เซทิลไพริดิเนียมคลอไรด์ (Cetylpyridinium Chloride) เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (Benzethonium Chloride)
4. ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
ใช้ในกรณีที่เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคคออักเสบ (Strep Throat) เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) เพนิซิลลิน (Penicillin)
5. ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics)
มักผสมอยู่ในยาอมแก้เจ็บคอ ซึ่งมีส่วนผสมของตัวยาที่ช่วยให้มีอาการชา เช่น เบนโซเคน (Benzocaine) อะไมโลเคน (Amylocaine) ลิโดเคน (Lidocaine) โดยมีชื่อทางการค้า เช่น ซีพาคอล (Cepacol) สเตร็ปซิล (Strepsils)
6. สารช่วยบรรเทาอาการระคายเคือง (Demulcents)
เป็นการผสมระหว่างตัวยาและส่วนผสมออกฤทธิ์บางชนิด เช่น กลีเซอรีน (Glycerin) ฟีนอล (Phenol) เบนโซเคน (Benzocaine) สารในกลุ่มเหล่านี้จะช่วยบรรเทาการเจ็บคอและระคายเคืองคอ โดยมักผสมอยู่ในยาลูกอม ยาน้ำ ยากลั้วคอ สเปรย์พ่นคอ

7. ยากดอาการไอ (Cough Suppressants)
ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอสำหรับอาการไอแห้ง ไม่มีเสมหะ เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) บูทาไมเรต (Butamirate) เลโวโดรโพรพิซีน (Levodropropizine)
8. ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
ที่ช่วยขับเสมหะและบรรเทาอาการเจ็บคอ เช่น บรอมเฮกซีน (Bromhexine) อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) แอมบรอกซอล (Ambroxol)
9. สมุนไพรและสารสกัดธรรมชาติต่างๆ
เช่น ใบสะระแหน่ เมนทอล น้ำผึ้ง ยูคาลิปตัส มะแว้ง ฯลฯ โดยมักอยู่ในรูปของยาอมแก้เจ็บคอ ซึ่งช่วยให้ชุ่มคอ ลดการระคายคอ
กรณีที่เป็นการเจ็บคอจากกรดไหลย้อน อาจมีการให้ยาต่อไปนี้
10. ยาลดกรด (Antacids)
เพื่อแก้กรดในกระเพาะอาหาร เช่น ทัมส์ (Tums) โรเลดส์ (Rolaids) มาล็อกซ์ (Maalox) ไมแลนตา (Mylanta)
11. ยาลดการผลิตกรด (H2 Blockers)
เพื่อลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine) ฟาโมทิดีน (Famotidine)
12. ยายับยั้งการหลั่งกรด (Proton Pump Inhibitors: PPIs)
เพื่อยับยั้งการผลิตกรดของกระเพาะอาหาร เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole) แลนโซพราโซล (Lansoprazole) อีโซเมปราโซล (Esomeprazole)
รูปแบบของยาแก้เจ็บคอ
- ยาลูกอม เป็นเม็ดอมที่มีส่วนผสมของตัวยาหลายชนิด เช่น ยาชาเฉพาะที่ ยาลดอาการไอ หรือสารสกัดจากสมุนไพรต่าง ๆ ที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
- ยาพ่นคอ เป็นยาแก้เจ็บคอที่อยู่ในรูปแบบสเปรย์สำหรับพ่น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการไอ ระคายคอ และคันคอ ลดอาการอักเสบ ฆ่าเชื้อต่าง ๆ
- ยากลั้วคอ เป็นยาแก้เจ็บคอในรูปแบบน้ำสำหรับกลั้วคอ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยต้านแบคทีเรีย จึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและลดอาการระคายคอได้
- ยาน้ำสำหรับรับประทาน เป็นยาแก้เจ็บคอชนิดน้ำ รับประทานง่าย เหมาะสำหรับเด็ก
- ยาเม็ดสำหรับรับประทาน เป็นยาแก้เจ็บคอชนิดเม็ด เหมาะสำหรับผู้ใหญ่
ไม่ใช่ยาแก้อักเสบเจ็บคอ แต่เป็นยาปฏิชีวนะ
การติดเชื้อที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บคอมีอยู่ 2 สาเหตุหลัก คือ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยหากเป็นอาการเจ็บคอเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัสจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง อาทิ ปอดบวม หลอดลมอักเสบ กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน และไข้รูมาติก
โดยการแยกความแตกต่างระหว่างการเจ็บคอที่เกิดจากไวรัสและแบคทีเรียนั้น สามารถสังเกตอาการบ่งชี้เบื้องต้น คือ หากมีอาการอักเสบ บวมแดงบริเวณลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล หรือมีจุดหนองที่ต่อมทอนซิล แสดงว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่หากไม่มีอาการดังกล่าวอาจเป็นการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยา รวมไปถึงเชื้อดื้อยา แพ้ยา หรือเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้

ข้อควรระวังก่อนใช้ยา
ยาแก้เจ็บคอแต่ละชนิดมีการระบุสรรพคุณ ปริมาณการใช้ และวิธีใช้ไว้อย่างชัดเจนบนฉลากผลิตภัณฑ์ ดังนั้นควรใช้ในปริมาณที่จำกัดตามฉลากหรือตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาแก้เจ็บคอเกินปริมาณที่กำหนด เนื่องอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อรับคำแนะนำในการใช้ยาแก้เจ็บคอแต่ละชนิดอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยแพ้ยา ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงสตรีมีครรภ์ กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้เจ็บคอ
ยาแก้เจ็บคอส่วนใหญ่มักไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงน้อยมาก ซึ่งผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้เจ็บคอจะแตกต่างกันไปตามชนิดของยา อย่างไรก็ตามยาอมแก้เจ็บคอที่มีส่วนผสมของยาชาบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกชาภายในช่องปากและเกิดผลข้างเคียงได้ ตัวอย่างยาแก้เจ็บคอและผลข้างเคียงดังนี้
- ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) เป็นยาบรรเทาอาการไอแบบไม่มีเสมหะ เมื่อใช้ในปริมาณมากอาจทำให้ง่วงซึม ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยานยนต์ เครื่องจักรกล หรือทำงานในที่สูงได้
- ยาเบนโซเคน (Benzocaine) มีส่วนประกอบของยาชาเฉพาะที่ มีรายงานว่าก่อให้เกิดภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) ในผู้ป่วยบางราย ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ยาเฟอร์บิโพรเฟน (Flurbiprofen) เป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หากใช้ในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดแผลและมีเลือดออกในทางเดินอาหารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
เทคนิคง่ายๆ ช่วยให้อาการเจ็บคอหายไวขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ
- อมลูกอมหรือยาอมแก้เจ็บคอเพื่อช่วยให้คอชุ่มชื้น
- รับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ซุปต่างๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารเย็น อาหารรสเผ็ด อาหารรสจัด และอาหารทอด
- ดื่มน้ำอุ่นหรือเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น ชาร้อนผสมน้ำผึ้ง น้ำอุ่นผสมมะนาว ชาสมุนไพร
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- กลั้วคอด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือป่น ½-1 ช้อนชา วันละ 2-3 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการใช้เสียงเป็นการชั่วคราว
- พยายามอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงที่ที่มีฝุ่น ควัน มลพิษ หรือสารก่อภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่เย็นจัด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับยาแก้เจ็บคอ
1. คออักเสบควรกินยาปฏิชีวนะหรือไม่?
อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ หากเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องกินยาปฎิชีวนะ แต่จะรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก ดื่มน้ำอุ่น ใช้ยาอมแก้เจ็บคอ หรือยาพ่นคอ
แต่หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจำเป็นต้องใช้ยาปฎิชีวนะ ซึ่งแพทย์และเภสัชกรจะพิจารณาจ่ายยาปฏิชีวนะแก้ตามสาเหตุ อาการ และอายุของผู้ป่วยเพื่อลดอาการเจ็บคออย่างเหมาะสม
2. ยาแก้อักเสบช่วยให้หายเจ็บคอหรือไม่?
ยาแก้อักเสบที่ผู้ป่วยเข้าใจว่าช่วยลดอาการเจ็บคอนั้น แท้จริงคือยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีประโยชน์ในการรักษาอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่มีคุณสมบัติในการแก้เจ็บคอที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ
ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาแก้อักเสบ เจ็บคอ ไม่ควรหาซื้อรับประทานเอง เนื่องจากการใช้ยาแก้อักเสบ เจ็บคออาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย เช่น ปัญหาเชื้อดื้อยา แพ้ยา โรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้
3. ยาอมแก้เจ็บคอช่วยแก้เจ็บคอจากทอนซิลอักเสบได้หรือไม่?
ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดต่อมทอนซิลอักเสบว่าเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย หากเกิดจากไวรัสจะรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาพ่น หรือยาอมแก้เจ็บคอ แต่หากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน อาการก็จะทุเลาลง
- แหล่งข้อมูล
- Watson, S. (2020). Sore Throat 101: Symptoms, Causes, and Treatment. https://www.healthline.com/health/sore-throat
- Shye, R. (2021). Best Over-the-Counter Medications for Sore Throat. https://www.goodrx.com/blog/sore-throat-treatment-options-over-the-counter/
- กนกวรรณ ปานเอม. (2014). เป็นหวัดเจ็บคอ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ. https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=19
- ปารยะ อาศนะเสน. (2013). เจ็บคอ……….จะแย่แล้ว. http://www.rcot.org/2016/People/Detail/182
- รักษาภาวะกรดไหลย้อนด้วยยา. (n.d.). https://www.bangkokhospital.com/content/treatment-of-gerd
- สุรศักดิ์ วิชัยโย. (2015). ยาอมแก้ไอ ยาอมแก้เจ็บคอ. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/266/ยาอมแก้ไอยาอมแก้เจ็บคอ/
- อาการเจ็บคอ แต่ไม่ได้เป็นหวัด คืออะไร?. (n.d.). http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=2030